TV Online ทุกวันเวลา ๑๐.๐๐-๒๒.๐๐ น.

 ชมรมคนปลดหนี้ & ล้มบนกองฟูก
- ต้องการให้ช่วยแก้ปัญหาหนี้ ถูกทวงหนี้ นายจ้างเอาเปรียบ ถูกให้ออกจากงาน อยากล้มบนกองฟูก
- เราจะช่วยท่านปลดหนี้(ชักดาบ)ตามวิธีทางกฎหมาย

หนี้ บัตรเครดิต แก้ปัญหาหนี้ ชมรมปลดหนี้ ถูกทวงหนี้
  หน้าเว็บหลัก      หน้าหลักบอร์ด      ตั้งคำถาม      ค้นหา      สมัครเข้าชมรมคนปลดหนี้   
สมาชิกบอร์ด ออนไลน์ 23 ท่าน  
:: สมาชิกเข้าระบบ | ชื่อเข้าระบบ :: รหัสผ่าน :
:: ผู้ดูแลระบบ เฉพาะเจ้าหน้าที่ดูแลระบบเท่านั้น
ร่วมแสดงความคิดเห็นในหัวข้อ ย้อนกลับ | ถัดไป
  • คำมั่นก่อให้เกิดหนี้ผูกพันผู้ให้คำมั่น ตลอดจนทายาทหรือผู้รับโอนสิทธิของผู้ให้คำมั่นด้วย
                   คำมั่นก่อให้เกิดหนี้ผูกพันผู้ให้คำมั่น ตลอดจนทายาทหรือผู้รับโอนสิทธิของผู้ให้คำมั่นด้วย แต่ถ้าผู้รับคำมั่นทราบว่าผู้ให้คำมั่นตายแล้วยังตอบรับคำมั่นไปอีก ทายาทหรือผู้รับโอนสิทธิของผู้ให้คำมั่นนั้นย่อมพ้นความผูกพัน ตามคำพิพากษาฎีกาที่ 6515/2538 ซึ่งวินิจฉัยว่าตามสัญญาที่ให้โจทก์มีสิทธิซื้อที่พิพาทคืนได้โดยไม่มีกำหนดเวลาเป็นเพียงคำมั่นของ ส. มิใช่เป็นสัญญาจะซื้อขายที่พิพาท และไม่ปรากฏว่าโจทก์ได้สนองรับคำมั่นว่าจะทำการซื้อที่พิพาทไปยัง ส.   เมื่อ ส. ตายโจทก์ก็ทราบ แต่โจทก์ยังตอบรับคำมั่นโดยบอกกล่าวให้จำเลยซึ่งเป็นผู้จัดการมรดกไปจดทะเบียนโอนที่พิพาทให้แก่โจทก์ กรณีจึงต้องบังคับตามป.พ.พ. มาตรา 360 ซึ่งบัญญัติมิให้นำบทบัญญัติแห่งป.พ.พ. มาตรา 169 วรรค 2 มาใช้บังคับ คำมั่นจะขายที่พิพาทของ ส. ย่อมไม่มีผลบังคับ จึงไม่ผูกพันจำเลยซึ่งเป็นผู้จัดการมรดกของ ส.   
                   คำมั่นที่มีกำหนดเวลา จะผูกพันผู้ให้คำมั่นภายในระยะเวลาที่กำหนดไว้เท่านั้น แต่คำมั่นที่ไม่มีกำหนดเวลา จะผูกพันผู้ให้คำมั่นตลอดไป (ฎ. 1004/2485)  แต่ผู้ให้คำมั่นก็สามารถทำคำบอกกล่าวโดยกำหนดเวลาพอสมควรไปยังผู้ที่จะรับคำมั่นอีกครั้ง โดยมีเงื่อนเวลาว่าถ้าไม่ตอบกลับมาภายในระยะเวลาที่กำหนดก็ให้คำมั่นนั้นสิ้นผลไป (ป.พ.พ. มาตรา 454 วรรค 2 )
                   หากท่านผู้อ่านจะให้คำมั่นจะซื้อหรือจะขายอสังหาริมทรัพย์กับใคร ถ้าไม่อยากผูกมัดตัวเองมากนัก อย่าลืมกำหนดเวลาไว้ด้วยนะค่ะ  

    โดย : Administrator วัน-เวลา : 19 กุมภาพันธ์ 2553 | 11:17:40   From ip : 58.8.141.85

     ความคิดเห็นที่ : 1
  • 1.ความหมายของนิติกรรม

    ตอบ    การกระทำใดๆ ที่ชอบด้วยกฎหมายและใจสมัคร มุ่งโดยตรงต่อการผูกนิติสัมพันธ์ ระหว่างบุคคล เพื่อจะก่อเปลี่ยนแปลง โอน สงวน หรือระงับซึ่งสิทธิ  การแสดงเจตนาของนิติกรรมอาจจะแสดงด้วยวาจา ลายลักษณ์อักษร หรือการนิ่งก็ได้   นิติกรรมแม้จะทำด้วยใจสมัคร ก็มีข้อบกพร่อง ถ้ากฎหมายเข้าไปควบคุมและไม่อนุญาตให้ทำ

     

    2.องค์ประกอบของนิติกรรม

    ตอบ    1.องค์ประกอบที่เป็นสาระสำคัญ ได้แก่

    บุคคล นิติกรรมจะเกิดขึ้นได้ต้องมีบุคคลในการทำนิติกรรม ซึ่งบุคคลที่จะทำนิติกรรมนั้นต้องมีความรู้สำนึกในสิ่งที่ตนกระทำ และมีความสามารถในการทำนิติกรรมต่างๆ ได้ตามที่กฎหมายบัญญัติ

     

    วัตถุประสงค์ การทำนิติกรรมย่อมมีวัตถุประสงค์เพื่อให้เกิดความเคลื่อนไหวทางกฎหมายในอันที่จะก่อ เปลี่ยนแปลง โอน สงวน หรือ ระงับซึ่งสิทธิ (ป.พ.พ. ม.149)และวัตถุประสงค์ที่จะกระทำต้องไม่เป็นการพ้นวิสัยหรือขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน (ป.พ.พ. ม.150)

     

    แบบ ในการทำนิติกรรมต้องกระทำด้วยวิธีการอย่างใดอย่างหนึ่ง ไม่ว่าจะมีกฎหมายบังคับให้ทำ หรือเป็นวิธีการที่เกิดจากความสมัครใจของผู้ทำนิติกรรมก็ตาม ซึ่งแบบของนิติกรรมตามที่กฎหมายบังคับไว้แบ่งเป็น 5 ชนิด ดังนี้ 1.ส่งมอบทรัพย์ 2.ทำเป้นหนังสือ 3.จดทะเบียนต่อเจ้าพนักงาน 4.ทำเป็นหนังสือหรือจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ 5.แบบพิเศษ

     

    เจตนา การทำนิติกรรมจะต้องเกิดจากเจตนาของผู้ทำนิติกรรม ที่สมัครใจให้เกิดผลทางกฎหมาย เจตนาถือเป็นองค์ประกอบภายใน แยกออกได้ 3ประการ คือ

    1.เจตนาที่จะกระทำ หมายถึง เจตนาที่มุ่งถึงความประพฤติภายนอกของบุคคล ที่จะเคลื่อนไหวหรือไม่เคลื่อนไหวร่างกาย เพื่อให้บุคคลอื่นทราบถึงเจตนาที่ประสงค์จะแสดง

    2.เจตนาที่จะแสดงออก หมายถึง ความรู้สึกภายในของผู้แสดงเจตนา และเจตนาที่จะแสดงออกนี้ย่อมมีอยุ่ เมื่อข้อความหรือการกระทำถูกต้องตรงกับเจตนาภายในจิตใจของบุคคล

    3.เจตนาที่จะแสดงนิติกรรม หมายถึง เจตนาอันมุ่งโดยตรงเพื่อจะให้เกิดผลในกฎหมาย

     

     

    2.องค์ประกอบเสริม ได้แก่

    เงื่อนไข คือการนำเอาเหตุการณ์ที่ไม่มีความแน่นอนในอนาคต มากำหนดเกี่ยวกับความเป็นผลหรือการสิ้นผลของนิติกรรม

    เงื่อนเวลา คือการนำเอาเวลาอันเป็นเหตุการณ์ในอนาคตที่แน่นอน มากำหนดเกี่ยวกับความเป็นผลหรือสิ้นผลของนิติกรรม

     

     

     

     

     

    3.นิติกรรมฝ่ายเดียวกับนิติกรรมสองฝ่าย

    ตอบ    นิติกรรมฝ่ายเดียว หมายถึง นิติกรรมทางปกครองที่องค์กรของรัฐสามรถแสดงเจตนากำหนดหน้าที่ให้เอกชนได้ฝ่ายเดียว โดยเอกชนไม่จำเป็นต้องให้ความยินยอม ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นลักษณะของการสั่งการหรือคำสั่ง ให้กระทำหรือละเว้นการกระทำ

                นิติกรรมหลายสอง หมายถึง นิติกรรมทางปกครองที่เกิดขึ้นจากการแสดงเจตนาของบุคคลสองฝ่ายหรือหลายฝ่าย อันได้แก่ “สัญญาทางปกครองนั่นเอง” ซึ่งลักษณะสำคัญคือมีฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดเป็นฝ่ายปกครอง และมีวัตถุแห่งสัญญาเป็นบริการสาธารณะ ซึ่งแตกต่างจากสัญญาทางแพ่งเป็นอย่างมาก

     

    4.นิติกรรมที่มีค่าตอบแทนกับนิติกรรมที่ไม่มีค่าตอบแทน

    ตอบ    นิติกรรมที่มีค่าตอบแทน       ได้แก่      นิติกรรม  2  ฝ่าย         ซึ่งต่างฝ่าย ต่างมีผลประโยชน์

    ตอบแทนกัน     ซึ่งค่าตอบแทนนี้      อาจเป็นประโยชน์หรือทรัพย์สิน  หรือ การชำระหนี้ตอบแทนก็ได้

    เช่น      สัญญาซื้อขาย  ,  สัญญาจ้างแรงงาน   ,   สัญญาจ้างทำของ   ฯลฯ     ซึ่งบัญญัติไว้ในบรรพ 3

    และ     รวมทั้งสัญญา      ซึ่งไม่ได้บัญญัติไว้ใน   บรรพ   3   แต่เกิดขึ้นจากการแสดงเจตนาของบุคคล

    เกิดเป็นสัญญาขึ้น      เช่น    สัญญาเล่นแชร์เปียหวย    เป็นต้น      

             นิติกรรมที่ไม่มีค่าตอบแทน      ได้แก่    นิติกรรมที่ทำให้เปล่าไม่มีค่าตอบแทนเลย หรือ นิติกรรม

    ที่ผู้รับการแสดงเจตนาของอีกฝ่ายหนึ่งนั้น              ไม่ต้องให้ประโยชน์ตอบแทนอีกฝ่ายหนึ่ง        เช่น

    สัญญาให้โดยเสน่หา   ,  สัญญายืมใช้คงรูป  ,  สัญญาฝากทรัพย์โดยไม่มีบำเหน็จ  , พินัยกรรม เป็นต้น

     

    5.การแสดงเจตนาโดยชัดแจ้งกับการแสดงเจตนาโดยปริยาย

    ตอบ     การแสดงเจตนาโดยชัดแจ้งหรือโดยตรง อาจเป็นการแสดงโดยกิริยา วาจา หรือ

    ขีดเขียนเป็นลายลักษณ์อักษร

                 การแสดงเจตนาโดยปริยาย คือการกระทำที่พอจะสันนิษฐานได้ว่าเป็นการแสดงเจตนา  การที่บุคคลใช้สินค้าที่เขาส่งมาให้โดยตนไม่ได้สั่ง ถือว่าเป็นการแสดงเจตนาโดยปริยาย

     

    6.นิติกรรมอำพรางคืออะไร และ มีหลักการอะไร

    ตอบ    นิติกรรมอำพราง  หมายถึง  นิติกรรมอันหนึ่งที่ทำขึ้นด้วยเจตนาลวง เพื่อปิดบังนิติกรรมอีกอันหนึ่งที่ทำขึ้นด้วยเจตนาอันแท้จริง ซึ่งกฎหมายให้บังคับตามกฎหมายเกี่ยวกับนิติกรรมที่ถูกอำพรางนั้น.

               มีหลักดังต่อไปนี้

    -          คู่กรณีทำนิติกรรมขึ้นมา 2 ฉบับมีเนื้อหาข้อความแตกต่างกัน

    -          นิติกรรมอันหนึ่งทำขึ้นโดยเปิดเผยบุคคลภายนอกแต่เกิดขึ้นจากการแสดงเจตนาลวงโดยสมรู้กันระหว่างคู่กรณีเพื่อปิดบังนิติกรรมอีกอันหนึ่ง

    -          นิติกรรมอีกอันหนึ่งหรือนิติกรรมที่ถูกปกปิดเป็นนิติกรรมที่ทำขึ้นตามเจตนาที่แท้จริงของคู่กรณี แต่สงวนไว้เป้นความลับรู้กันเฉพาะคู่กรณีเท่านั้น

     

                  

     

     

    7.การแสดงเจตนาวิปริตคืออะไร และ มีเงื่อนไขอะไรบ้างที่จะเข้าข่ายการแสดงเจตนาวิปริต

    ตอบ    สำคัญผิด คือ การเข้าใจผิดไม่ถูกต้องต่อความเป็นจริงแห่งข้อเท็จจริงนั้น ๆ เพราะการที่รู้เท่าไม่ถึงการณ์และไม่รู้ตัวในขณะแสดงเจตนานั้น ซึ่งผลของการที่หลงผิดทำให้แสดงเจตนาออกมาไม่ตรงกับเจตนาแท้จริงที่ผู้แสดงเจตนาประสงค์ การสำคัญผิด หรือบางทีเรียกกันว่าความหลงผิด ได้แก่ กรณีความนึกคิดของผู้แสดงเจตนาไม่ตรงกับความเป็นจริงที่เป็นอยู่ โดยที่ผู้แสดงเจตนามิได้รู้ถึงความจริงข้อนี้และได้แสดงเจตนาดังกล่าวออกมา ซึ่งเป็นเรื่องที่ผู้แสดงเจตนาไม่รู้ว่าเจตนาที่แสดงออกมานั้นไม่ตรงกับเจตนาที่แท้จริง เพราะถ้าผู้แสดงเจตนารู้ตัวว่าเจตนาที่ตัวแสดงออกมาไม่ตรงกับเจตนาแท้จริงในใจของตนแล้ว ก็จะเป็นเรื่องของการแสดงเจตนาออกมาโดยในใจจริงไม่ต้องการผูกพันตามการแสดงเจตนาที่ตนแสดงออกมา ซึ่งได้แก่การแสดงเจตนาซ่อนเร้น ตามมาตรา ๑๕๔ หรือมิฉะนั้นก็เป็นเรื่องที่แสดงเจตนาลวงโดยสมรู้กับคู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่ง ซึ่งได้แก่การแสดงเจตนาลวงตามมาตรา ๑๕๕  


    โดย : Administrator  วัน - เวลา : ศุกร์ 19 กุมภาพันธ์ 2553 | 11:32:18   From ip : 58.8.141.85

     ความคิดเห็นที่ : 2
  • กฎหมายลักษณะสัญญา

    สัญญาคืออะไร

    สัญญา เป็นนิติกรรมที่ทำขึ้นโดยบุคคลตั้งแต่สองฝ่ายขึ้นไป สัญญาเป็นบ่อเกิดแห่งหนี้อย่างหนึ่ง ซึ่งทำให้เกิดมีเจ้าหนี้และลูกหนี้ขึ้น สัญญาเป็นนิติกรรม แต่นิติกรรมหาได้เป็นสัญญาเสมอไปไม่ โดยปกติแล้วบุคคลมีความสามารถในการทำสัญญา แต่กฎหมายก็ได้จำกัดเสรีภาพในการทำสัญญาไว้ดังนี้

      1. บุคคลผู้ทำสัญญานั้นจะต้องมีความสามารถตามกฎหมาย บุคคลที่ถูกกฎหมายจำกัดความสามารถในการทำนิติกรรมสัญญาได้แก่ ผู้เยาว์ คนไร้ความสามารถ คนเสมือนไร้ความสามารถ
      2. วัตถุประสงค์ของสัญญาต้องไม่เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมาย ไม่เป็นการพ้นวิสัย และไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน
      3. สัญญาบางชนิดกฎหมายบังคับให้ต้องทำตามแบบ ถ้าไม่ทำตามแบบแล้วย่อมเป็นโมฆะ เช่น สัญญาซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ สัญญาซื้อขายสังหาริมทรัพย์ชนิดพิเศษ สัญญาเช่าซื้อทรัพย์สิน เป็นต้น

    สัญญาเกิดขึ้นได้อย่างไร

    สัญญาจะเกิดขึ้นได้ต้องมีส่วนประกอบดังนี้

    1. ต้องมีบุคคลตั้งแต่สองฝ่ายขึ้นไป ซึ่งแต่ละฝ่ายจะมีกี่คนก็ได้ ถ้ามีผู้แสดงเจตนาฝ่ายเดียวแล้วไม่เรียกว่าเป็นสัญญา สัญญาบางชนิด เช่น สัญญาให้โดยเสน่หาก็ต้องมีผู้แสดงเจตนาสองฝ่าย คือมีการแสดงเจตนาทั้งผู้ให้และผู้รับ

    2. ต้องมีการแสดงเจตนาของบุคคลตั้งแต่สองฝ่าย การแสดงเจตนาของฝ่ายที่เริ่มต้นที่ประสงค์จะทำสัญญาเรียกว่า "คำเสนอ" ส่วนการแสดงเจตนาของอีกฝ่ายหนึ่งซึ่งตกลงใจเข้าผูกพันตามคำเสนอของฝ่ายแรกเรียกว่า "คำสนอง" เมื่อคำเสนอและคำสนองตรงกันสัญญาย่อมเกิดขึ้น 

    3. ต้องมีวัตถุที่ประสงค์ เมื่อเราทำสัญญากันขึ้น เราต้องมีวัตถุประสงค์ว่า ทำสัญญาขึ้นเพื่ออะไร วัตถุที่ประสงค์ของสัญญานั้นต้องไม่เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมาย ไม่เป็นการพ้นวิสัย ไม่เป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน มิฉะนั้นแล้วสัญญาจะเป็นโมฆะ

    คำเสนอ

    คำเสนอ เป็นการแสดงเจตนาของฝ่ายที่เริ่มต้นที่แสดงความประสงค์จะทำสัญญากับคู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่ง คำเสนอจะต้องมีข้อความชัดเจนแน่นอนที่จะก่อให้เกิดสัญญาขึ้นได้ คำบอกกล่าวที่มีลักษณะคลุมเคลือไม่ชัดเจนแน่นอนว่าจะให้ผูกพันกันเรื่องใดบ้าง ยังไม่เป็นคำเสนอ คำเสนอจะต้องแสดงออกให้รู้ถึงคู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่ง ซึ่งเรียกว่าผู้ทำคำสนอง การนึกอยู่ในใจนั้นยังไม่เป็นคำเสนอ คำเสนอนั้นอาจแสดงออกเป็นลายลักษณ์อักษร หรือด้วยกิริยา วาจาก็ได้

    การถอนคำเสนอ

    การถอนคำเสนอนั้นแยกพิจารณาได้ดังนี้

    1. ผู้เสนอจะถอนคำเสนอของตนไม่ได้ในระยะเวลาที่บ่งไว้ให้ทำคำเสนอ คำเสนอจะทำสัญญาอันบ่งระยะเวลาให้ทำคำสนองนั้น ไม่อาจถอนได้ภายในระยะเวลาที่บ่งไว้ (มาตรา 354)ตัวอย่าง ก.ส่งจดหมายเสนอขายเครื่องจักรโรงงานไปยัง ข.ที่จังหวัดสงขลา ในราคา 2,000,000 บาท โดยบ่งเวลาไว้ว่า ถ้าจะซื้อให้ตอบมาภายในวันที่ 1 ตุลาคม 2547 ดังนี้ ก. จะถอนคำเสนอก่อนวันที่ 1 ตุลาคม 2547 ไม่ได้

    2. ผู้เสนอจะถอนคำเสนอซึ่งกระทำต่อผู้อยู่ห่างกันโดยระยะทางก่อนเวลาที่ควรมีคำสนอง
    ไม่ได้
    บุคคลทำคำเสนอไปยังผู้อื่นซึ่งอยู่ห่างกันโดยระยะทางและมิได้บ่งระยะเวลาให้ทำคำสนอง จะถอนคำเสนอของตนเสียภายในเวลาอันควรคาดหมายว่าจะได้รับคำบอกกล่าวสนองนั้นไม่ได้ (มาตรา 355)ตัวอย่าง ก. อยู่กรุงเทพฯ ส่งจดหมายเสนอขายเครื่องจักรโรงงานไปยัง ข. ที่จังหวัดสงขลาในราคา 2,000,000 บาท โดยไม่ได้บ่งระยะเวลาให้ ข. ตอบตกลงมา เช่นนี้ ก. จะถอนคำเสนอของตนก่อนระยะเวลาอันควรไม่ได้ โดยคำนวณระยะเวลาส่งจดหมายไปและกลับจากกรุงเทพฯถึงสงขลาว่าใช้เวลานานเท่าใด และให้เวลาแก่ ข.ในการที่จะพิจารณาว่าจะซื้อหรือไม่ด้วย เพราะการสั่งซื้อสินค้าผู้ซื้ออาจจะไม่สามารถตอบตกลงได้ในทันทีทันใดที่คำเสนอขายไปถึง

     3. คำเสนอต่อบุคคลผู้อยู่เฉพาะหน้าจะมีคำสนองได้แต่ ณ ที่นั้นเวลานั้น คำเสนอทำแก่บุคคลผู้อยู่เฉพาะหน้า โดยมิได้บ่งระยะเวลาให้ทำคำสนองนั้น เสนอ ณ ที่ใดเวลาใดก็ย่อมจะสนองรับได้แต่ ณ ที่นั้นเวลานั้น ความข้อนี้ให้ใช้ตลอดถึงการที่บุคคลคนหนึ่งทำคำเสนอไปยังบุคคลอีกคนหนึ่งทางโทรศัพท์ด้วย (มาตรา 356) แม้บุคคลจะอยู่ห่างไกลกัน หากสามารถแสดงเจตนาโดยคำเสนอให้อีกฝ่ายหนึ่งสามารถรู้หรือรับทราบเข้าใจได้ทันที ก็จัดเป็นคำเสนอแก่บุคคลผู้อยู่เฉพาะหน้า เช่นติดต่อกันทางสัญญาณธง สัญญาณควัน วิทยุ โทรทัศน์ หรือโทรศัพท์ เป็นต้นตัวอย่าง ก. เสนอขายตู้เย็น 1 เครื่องให้ ข. ในราคา 6,000 บาท ในขณะที่ ข. กำลังตรวจดูตู้เย็นอยู่นั้น ก. เกิดเปลี่ยนใจไม่ต้องการขายตู้เย็น ก.ย่อมบอกถอนคำเสนอของตนได้ เมื่อบอกถอนแล้วคำเสนอย่อมหมดสิ้นไปคำเสนอสิ้นความผูกพัน

    คำเสนอใดเขาบอกปัดไปยังผู้เสนอแล้วก็ดี หรือมิได้สนองรับภายในเวลากำหนดตามมาตรา 354 355 และ 356 คำเสนอย่อมเป็นอันสิ้นความผูกพันแต่นั้นไป (มาตรา 357) ซึ่งจะเห็นได้ว่าคำเสนอสิ้นความผูกพันเพราะเหตุดังนี้

    1. เมื่อมีการบอกปัดไปยังผู้เสนอตัวอย่าง ก. เสนอขายวิทยุไปยัง ข.ในราคา 3,000 บาท แต่ ข. ปฏิเสธไม่ซื้อ เช่นนี้คำเสนอย่อมสิ้นความผูกพัน

    2. เมื่อมิได้สนองรับภายในเวลากำหนดตามมาตรา 354 355 และ 356ตัวอย่าง ก. เสนอขายเครื่องปรับอากาศไปยัง ข.ในราคา 30,000 บาท โดยให้ ข. ตอบมาภายใน 15 วัน ว่าจะซื้อหรือไม่ แต่ ข. ตอบตกลงซื้อมาหลังจาก ก.เสนอขายถึง 3 เดือน เช่นนี้คำเสนอย่อมสิ้นความผูกพัน

    3. เมื่อผู้เสนอแสดงเจตนาไว้ว่าให้คำเสนอสิ้นความผูกพันเมื่อเขาตาย หรือตกเป็น ผู้ไร้ความสามารถ หรือก่อนจะสนองรับนั้นคู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่งได้รู้อยู่แล้วว่าผู้เสนอตาย หรือตกเป็นผู้ไร้ความสามารถ (มาตรา 360)ตัวอย่าง (1) ก. เสนอขายรถยนต์ไปยัง ข. ซึ่งอยู่ที่จังหวัดสงขลาในราคา 400,000 บาท ต่อมาข.ได้ทราบว่า ก. ประสบอุบัติเหตุถึงแก่ความตาย ข. จึงได้ส่งจดหมายตอบตกลงซื้อไปยังทายาทของ ก. เช่นนี้คำเสนอขายของ ก. ย่อมสิ้นความผูกพัน เพราะ ข.ได้ทราบแล้วว่า ก. ตายก่อนที่ตนจะส่งคำสนองไป แต่ถ้า ข. ทราบว่า ก. ตายหลังจากที่ส่งคำสนองไปแล้ว เช่นนี้คำเสนอย่อมไม่สิ้นความผูกพัน

     ตัวอย่าง (2) ก. เสนอขายรถยนต์ไปยัง ข. ที่จังหวัดสงขลาในราคา 400,000 บาท ก.ได้ระบุเงื่อนไขไว้ด้วยว่า ถ้าตนถึงแก่ความตายก็จะไม่ขายรถยนต์คันนี้ ต่อมา ก. ถึงแก่ความตาย แต่ ข.ไม่ทราบจึงตอบตกลงไป เช่นนี้คำเสนอย่อมสิ้นความผูกพัน เพราะ ก. แสดงเจตนาไว้แล้วว่าจะไม่ขายเมื่อตนถึงแก่ความตาย

    คำสนอง

    คำสนอง คือ คำตอบของผู้รับคำเสนอที่มีไปยังผู้เสนอว่าตกลงยินยอมทำสัญญากับผู้เสนอ ตามข้อความที่ผู้เสนอได้เสนอมา

    คำสนองที่ไม่ตรงกับคำเสนอ

    คำสนองอันมีข้อความเพิ่มเติม มีข้อจำกัด หรือมีข้อแก้ไขอย่างอื่นประกอบด้วยนั้น ให้ถือว่าเป็นคำบอกปัดไม่รับ ทั้งเป็นคำเสนอขึ้นใหม่ด้วยในตัว (มาตรา 359 วรรค 2)ตัวอย่าง ก. เสนอขายแอปเปิ้ล 1,000 ผลไปยัง ข.ในราคาผลละ 6 บาท โดยต้องซื้อทั้งหมด ข. ตอบตกลงซื้อ 500 ผล เช่นนี้คำเสนอของ ก. แสดงให้เห็นว่าเสนอขายทั้งหมด ซื้อทั้งหมดจึงขายผลละ 6 บาท ซื้อน้อยไม่ยอมขาย คำสนองของ ข.ไม่ก่อให้เกิดสัญญาและกลายเป็นคำเสนอใหม่ตามเจตนาที่ปรากฏในคำตอบของ ข.

    คำสนองล่วงเวลา

    ถ้าคำสนองมาถึงล่วงเวลา ให้ถือว่าคำสนองนั้นกลายเป็นคำเสนอขึ้นใหม่ (มาตรา 359 วรรค 1)ตัวอย่าง ก. เสนอขายเครื่องปรับอากาศไปยัง ข. ในราคา 30,000 บาท โดยให้ ข. ตอบมาภายใน 15 วันว่าจะซื้อหรือไม่ แต่ ข. ตอบตกลงซื้อมาหลังจาก ก. เสนอขายถึง 3 เดือนคำสนองของข. ไม่ก่อให้เกิดสัญญา และกลายเป็นคำเสนอขอซื้อเครื่องปรับอากาศจาก ก. ในราคา 30,000 บาทขึ้นใหม่ ซึ่งถ้า ก.ต้องการขายก็ต้องตอบสนองมาคำสนองที่มาถึงล่วงเวลา แต่เป็นที่ประจักษ์ว่าคำสนองนั้นได้ส่งโดยทางการ ซึ่งตามปกติควรมาถึงภายในเวลาที่กำหนดคำสนองที่มาถึงล่วงเวลา แต่เป็นที่ประจักษ์ว่าคำบอกกล่าวนั้นได้ส่งโดยทางการ ซึ่งตามปกติควรจะมาถึงภายในเวลาที่กำหนด มาตรา 358 ให้ปฏิบัติ
    ดังนี้

    1. ผู้เสนอต้องบอกกล่าวแก่คู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่งโดยพลันว่า คำสนองนั้นมาถึงเนิ่นช้า เว้นแต่จะได้บอกกล่าวเช่นนั้นก่อนแล้ว

     2. ถ้าผู้เสนอละเลยไม่บอกกล่าวตาม 1. ให้ถือว่าคำบอกกล่าวสนองนั้นมิได้ล่วงเวลาตัวอย่าง ก. อยู่กรุงเทพฯ เสนอขายรถยนต์ไปยัง ข. ที่จังหวัดเชียงใหม่ในราคา 400,000 บาทโดย
    บ่งระยะเวลาให้ทำคำบอกกล่าวสนองไว้ด้วยว่า ให้ตอบจดหมายมาถึง ก. ภายใน 15 วันนับแต่วันที่ ข. ได้รับจดหมายเสนอขาย ข. ได้ตอบตกลงซื้อโดยส่งจดหมายตอบมาตั้งแต่วันแรกที่ได้รับจดหมายเสนอขายจาก ก. แต่จดหมายนั้นมาถึง ก.เมื่อล่วงเลย 15 วันนับแต่ ข. ได้รับจดหมายจาก ก. เช่นนี้ถือว่าคำสนองมาถึงล่วงเวลา ปรากฏว่าการที่จดหมายมาถึง ก. ช้าผิดปกติไป เนื่องจากเกิดอุทกภัยในภาคเหนือ ทางรถไฟ ทางรถยนต์ใช้ไม่ได้ อันนับว่าเกิดเหตุผิดปกติขึ้น ซึ่งจะเห็นได้ว่าตามปกติจดหมายควรจะมาถึง ก. ภายในกำหนดเวลา 15 วัน ก. มีหน้าที่ต้องบอกกล่าวต่อ ข.โดยพลันว่าจดหมายตอบ ตกลงซื้อของ ข. นั้นมาถึง ก. เนิ่นช้าเลยเวลากำหนด ถ้า ก. นิ่งเฉยเสียไม่บอกกล่าวต่อ ข.โดยพลัน ถือว่าจดหมายตอบตกลงซื้อของ ข. นั้นมาถึง ก. ทันเวลามิได้มาถึงล่วงเวลาแต่ประการใด สัญญาซื้อขายรถยนต์ระหว่าง ก. และ ข. ย่อมเกิดขึ้น

    สัญญาเกิดขึ้นเมื่อใด

    สัญญาระหว่างบุคคลซึ่งอยู่ห่างกันโดยระยะทางนั้น ย่อมเกิดเป็นสัญญาขึ้นแต่เวลาเมื่อคำบอกกล่าวสนองไปถึงผู้เสนอ (มาตรา 361 วรรค 1) ตามหลักทั่วไป สัญญาเกิดขึ้นเมื่อคำเสนอกับคำสนองตรงกัน สัญญาระหว่างบุคคลซึ่งทำคำสนองเฉพาะหน้าเกิดเป็นสัญญาขึ้นเมื่อเวลาที่ผู้เสนอรับทราบและเข้าใจคำสนองนั้น หากเป็นคำสนองทำแก่ผู้เสนอซึ่งอยู่ห่างกันโดยระยะทาง ถือว่าเป็นสัญญาทำแก่บุคคลซึ่งอยู่ห่างกันโดยระยะทาง สัญญาเกิดขึ้นเมื่อคำสนองไปถึงผู้เสนอ

    ตัวอย่าง ก. อยู่กรุงเทพฯ ส่งจดหมายเสนอขายเครื่องจักรโรงงานไปยัง ข. ที่จังหวัดลำปาง ในราคา 2,000,000 บาท ข. ตอบตกลงซื้อโดยเขียนจดหมายมายัง ก. สัญญาย่อมเกิดขึ้นเมื่อจดหมายตอบตกลงซื้อมาถึงบ้านของ ก. หรือสำนักงานของ ก. ถึงแม้ ก. จะยังไม่ได้อ่านจดหมายนั้นเลยก็ตามสัญญาซื้อขายก็ย่อมเกิดขึ้นแล้ว

    สัญญาอาจจะเกิดขึ้นได้โดยไม่ต้องมีคำบอกกล่าวสนองก็ได้

    ถ้าตามเจตนาอันผู้เสนอได้แสดง หรือตามปกติประเพณีไม่จำเป็นต้องมีคำบอกกล่าวสนองแล้ว สัญญานั้นเกิดเป็นสัญญาขึ้นในเวลาเมื่อมีการอันใดอันหนึ่งขึ้น อันจะพึงสันนิษฐานได้ว่าเป็นการแสดงเจตนาสนองรับ (มาตรา 361 วรรค 2)

     ตัวอย่าง ก. อยู่กรุงเทพฯส่งจดหมายสั่งซื้อลำไย 10,000 กิโลกรัม จาก ข.ซึ่งอยู่ที่จังหวัดเชียงใหม่ โดยบอกไปว่าถ้าตกลงขาย ไม่ต้องตอบจดหมายมา แต่ให้ส่งลำไยมาได้เลย ดังนี้ถ้า ข. ตกลงขายโดยส่งลำไยมาให้ ก.ที่กรุงเทพฯ สัญญาซื้อขายย่อมเกิดขึ้นทันทีที่สินค้ามาถึง ก. ผู้เสนอโดย ข.ไม่ต้องส่ง
    จดหมายตอบตกลงขายมา

    การตีความสัญญา

    สัญญานั้น กฎหมายให้ตีความไปตามความประสงค์ในทางสุจริต โดยพิเคราะห์ถึงปกติประเพณีด้วย (มาตรา 368)ตัวอย่าง สัญญาเช่าสิทธิขายอาหารและสิ่งพิมพ์ประจำสถานีรถไฟนครราชสีมาระหว่างโจทก์กับการรถไฟแห่งประเทศไทยจำเลยที่ตกลงว่า โจทก์จะรักษาที่เช่าให้คงอยู่ในสภาพเรียบร้อยและจะรักษาความสะอาดโดยกวดขัน โจทก์จะไม่ปลูกขึ้นใหม่ หรือปลูกสร้างต่อเติมส่วนหนึ่งส่วนใดขึ้นในสถานที่เช่า โจทก์ต้องยอมให้จำเลย หรือพนักงานของจำเลยเข้าตรวจสถานที่เช่าได้ทุกเมื่อ จะไม่ให้
    ผู้อื่นเช่าช่วง มิใช่สัญญาที่ให้สิทธิโจทก์ขายอาหารและสิ่งพิมพ์ในบริเวณสถานีรถไฟนครราชสีมาเท่านั้น หากแต่ยังให้สิทธิโจทก์ได้ใช้ประโยชน์ในลักษณะเป็นผู้ครอบครองส่วนที่เป็นบริเวณร้านขายอาหารและเคาน์เตอร์ขายสิ่งพิมพ์ซึ่งอยู่ในบริเวณสถานีรถไฟอีกด้วย โดยถือว่าเป็นสถานที่เช่าตามสัญญาเช่าสิทธิ ต้องด้วยบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 3 ลักษณะ 4 เช่าทรัพย์ ดังนั้นจำเลยจะเข้าปรับปรุงอาคารส่วนที่เป็นร้านขายอาหารและเคาน์เตอร์ขายสิ่งพิมพ์โดยปราศจากความยินยอมของโจทก์มิได้ (ฎีกาที่ 1082/2545)

    ผลแห่งสัญญา

    ประเภทของสัญญา

    สัญญาต่าง ๆ นั้นพอแบ่งเป็นประเภทได้ดังนี้

      1. สัญญาที่มีค่าตอบแทน หมายถึง สัญญาซึ่งคู่สัญญาต่างให้ประโยชน์เป็นค่าแลกเปลี่ยนตอบแทนซึ่งกันและกัน เช่น สัญญาซื้อขาย สัญญาแลกเปลี่ยน สัญญาเช่าทรัพย์ สัญญาเช่าซื้อสัญญาจ้างแรงงาน สัญญาจ้างทำของ เป็นต้น
      2. สัญญาที่ไม่มีค่าตอบแทน หมายถึง สัญญาซึ่งคู่สัญญาฝ่ายหนึ่งได้ให้ประโยชน์แก่คู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งแต่ฝ่ายเดียว โดยคู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งไม่ต้องให้ประโยชน์อะไรตอบแทนเลย เช่นสัญญาให้โดยเสน่หา สัญญายืมใช้คงรูป สัญญายืมใช้สิ้นเปลือง เป็นต้น
      3. สัญญาต่างตอบแทน มีลักษณะเหมือนสัญญาที่มีค่าตอบแทน
      4. สัญญาไม่ต่างตอบแทน มีลักษณะเหมือนสัญญาที่ไม่มีค่าตอบแทน
      5. เอกเทศสัญญา หมายถึง สัญญาที่ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ได้ระบุไว้ในบรรพ 3 เช่น สัญญาซื้อขาย สัญญาแลกเปลี่ยน สัญญาเช่าทรัพย์ สัญญาเช่าซื้อ สัญญาจ้างแรงงาน สัญญาจ้างทำของ สัญญารับขน สัญญายืม สัญญาฝากทรัพย์ สัญญาค้ำประกัน สัญญาจำนอง สัญญาจำนำ เป็นต้น
      6. สัญญาไม่มีชื่อ หมายถึง สัญญาที่ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ไม่ได้ระบุไว้ในบรรพ 3 เช่น สัญญาเล่นแชร์เปียหวย สัญญาปลูกอาคารเพื่อให้เช่า (ไม่ใช่สัญญาเช่า แต่เป็นปลูกอาคารแล้วจึงจะมีการเช่า จึงบังคับได้ในฐานเป็นสัญญาต่างตอบแทนก่อนการเช่า)

    ผลแห่งการไม่ชำระหนี้ตามสัญญาต่างตอบแทน

    ผลแห่งการไม่ชำระหนี้ตามสัญญาต่างตอบแทนมีดังนี้

    1. ในสัญญาต่างตอบแทนนั้น คู่สัญญาฝ่ายหนึ่งจะไม่ยอมชำระหนี้จนกว่าอีกฝ่ายหนึ่งจะชำระหนี้หรือขอปฏิบัติการชำระหนี้ก็ได้ แต่ความข้อนี้มิให้ใช้บังคับ ถ้าหนี้ของคู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งยังไม่ถึงกำหนด (มาตรา 369)ตัวอย่าง ก. และ ข. ทำสัญญากันว่า ข. จะชำระเงินให้ ก. เป็นคราว ๆ ไป และเมื่อชำระครบแล้ว ก. จะโอนที่ดินให้ ข. ดังนี้ตราบใดที่ ก. แสดงไม่ได้ว่าพร้อมที่จะโอนที่ดินให้ ข. ข. ก็ไม่ต้องชำระเงิน ให้ ก.

    2. ถ้าสัญญาต่างตอบแทนมีวัตถุที่ประสงค์เป็นการก่อให้เกิดหรือ โอนทรัพยสิทธิในทรัพย์เฉพาะสิ่ง และทรัพย์นั้นสูญหรือเสียหายไปด้วยเหตุอย่างใดอย่างหนึ่งอันจะโทษลูกหนี้มิได้ การสูญหรือเสียหายนั้นตกเป็นพับแก่เจ้าหนี้ (มาตรา 370 วรรค 1)ตัวอย่าง ก. ซื้อเสื้อผ้าจาก ข. เพื่อนำไปจำหน่าย ก. เลือกเสื้อผ้าเรียบร้อยแล้ว แต่ฝากไว้กับ ข. ก่อน วันรุ่งขึ้นจึงจะมารับไป ตกกลางคืนเกิดไฟไหม้บ้านข้างเคียง แล้วลุกลามมาไหม้ร้านของ ข. เสื้อผ้าที่ ก. ฝาก ข.ไว้ก็เสียหายไปด้วย การที่เกิดไฟไหม้ขึ้นไม่ใช่เป็นความผิดของ ข. ข. ไม่ต้องรับผิดในความเสียหายที่เกิดขึ้นกับเสื้อผ้าของ ก. ความเสียหายตกเป็นพับ (ตกเป็นสูญเปล่า) แก่ ก.

    สัญญาเพื่อประโยชน์แก่บุคคลภายนอก

    สัญญาเพื่อประโยชน์แก่บุคคลภายนอกนั้นแยกพิจารณาได้ดังนี้

    1. ถ้าคู่สัญญาฝ่ายหนึ่งทำสัญญาตกลงว่าจะชำระหนี้แก่บุคคลภายนอก บุคคลภายนอกมีสิทธิเรียกชำระหนี้จากลูกหนี้โดยตรงได้ (มาตรา 374 วรรค 1) ตามปกติสัญญาที่คู่สัญญาก่อขึ้น ผูกพัน
    คู่กรณีในสัญญาเท่านั้น บุคคลภายนอกไม่มีสิทธิที่จะมาบังคับคู่สัญญาได้ แต่สัญญาเพื่อประโยชน์แก่บุคคลภายนอกนั้น เป็นสัญญาที่มีผลต่อบุคคลภายนอกทำให้บุคคลภายนอกมีสิทธิตามสัญญาโดยตรง รวมทั้งหน้าที่ตามสัญญาถ้าหากมีด้วย โดยที่บุคคลภายนอกมิจำต้องตกลงด้วยแต่แรกประการใด

    2. ในกรณีดังกล่าวตาม 1. สิทธิของบุคคลภายนอกย่อมเกิดมีขึ้นตั้งแต่เวลาที่แสดงเจตนาแก่ลูกหนี้ว่าจะถือเอาประโยชน์จากสัญญานั้น (มาตรา 374 วรรค 2) การถือเอาประโยชน์จากสัญญานั้น บุคคลภายนอกทำได้ด้วยการแสดงเจตนาต่อลูกหนี้และเมื่อสิทธิของบุคคลภายนอกได้เกิดขึ้นแล้ว
    คู่สัญญาไม่อาจจะเปลี่ยนแปลงหรือระงับสิทธินั้นได้ในภายหลัง

    ตัวอย่าง (1) ก. ซื้อที่ดินจาก ข. ตกลงกันว่าให้โอนที่ดินแปลงนี้ให้ ค. เช่นนี้ ค. เป็นบุคคลภายนอกซึ่งมีสิทธิเรียกร้องให้ ข.โอนที่ดินให้ตนเองได้ และสิทธิของ ค. เกิดขึ้นเมื่อ ค. แสดงความประสงค์แก่ ข. ว่าตนจะรับโอนที่ดินแปลงนี้ เมื่อ ค. แสดงความประสงค์แก่ ข. ว่าจะรับโอนที่ดินแปลงนี้แล้ว ก. และ ข. จะเปลี่ยนแปลงหรือระงับสัญญาซื้อขายนี้ไม่ได้ตัวอย่าง (2) กรมธรรม์ประกันภัยระบุชื่อบรรษัท ง. เป็นผู้รับประโยชน์ ซึ่งผู้รับประโยชน์หาต้องเป็นผู้มีส่วนได้เสียในทรัพย์สินที่เอาประกันภัย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 863 ไม่ กรณีเช่นนี้เป็นสัญญาเพื่อประโยชน์แก่บุคคลภายนอก ซึ่งบรรษัท ง. จะมีสิทธิได้รับค่าสินไหมทดแทนหากเกิดวินาศภัยเมื่อได้แสดงเจตนาว่าจะขอเข้ารับประโยชน์จากสัญญาประกันภัยจากโจทก์แล้ว ตามมาตรา 374 มิใช่เพียงแต่มีชื่อเป็นผู้รับประโยชน์จะทำให้มีสิทธิได้รับประโยชน์ทันที เมื่อบรรษัท ง.
    มิได้แสดงเจตนาเข้าเป็นผู้รับประโยชน์ จึงยังไม่มีสิทธิใด ๆ ตามกรมธรรม์ประกันภัยเมื่อสิทธิของบรรษัท ง. ยังไม่บริบูรณ์ตามกฎหมายแล้ว จำเลยผู้เอาประกันภัยในฐานะคู่สัญญาประกันภัย ย่อมเป็นผู้รับประโยชน์ที่จะได้รับค่าสินไหมทดแทนตามมาตรา 681 การที่จำเลยได้รับค่าสินไหมทดแทนจากโจทก์ จึงเป็นการได้รับไว้โดยชอบด้วยกฎหมาย มิใช่เป็นลาภมิควรได้ตามมาตรา 406 (คำพิพากษาฎีกาที่ 1112/2545)

    มัดจำและเบี้ยปรับ

    มัดจำ

    มัดจำ เป็นสิ่งซึ่งคู่สัญญาฝ่ายหนึ่งได้ให้ไว้กับอีกฝ่ายหนึ่งเมื่อเข้าทำสัญญา อันเป็นหลักฐานว่าสัญญานั้นได้ทำขึ้นแล้ว ทั้งเป็นประกันการที่จะปฏิบัติตามสัญญานั้นด้วย (มาตรา 377) มัดจำนั้นอาจจะเป็นเงินหรือเป็นสิ่งของก็ได้ และจะต้องมีการส่งมอบกันไว้ เราให้มัดจำกันไว้เพื่อ

    1. เป็นพยานหลักฐานว่าสัญญาได้ทำขึ้นแล้ว จึงทำให้สามารถฟ้องร้องกันได้ถ้าคู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่งไม่ปฏิบัติตามสัญญา เช่น สัญญาซื้อขายสังหาริมทรัพย์ที่มีราคาตั้งแต่ 500 บาทขึ้นไป ถ้ามี
    การวางมัดจำกันไว้แล้ว ก็ทำให้สามารถฟ้องร้องบังคับคดีกันได้ ถึงแม้สัญญาซื้อขายนั้นจะมิได้มี
    หลักฐานเป็นหนังสือก็ตาม

    2. เป็นการประกันการที่จะปฏิบัติตามสัญญาต่อไป การวางมัดจำไว้ทำให้ผู้วางมัดจำต้องปฏิบัติตามสัญญา เพราะถ้าไม่ปฏิบัติตามสัญญาคู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่งก็อาจริบมัดจำได้ และผู้รับมัดจำก็ต้องปฏิบัติตามสัญญาต่อไปเช่นเดียวกัน ถ้าไม่ปฏิบัติตามสัญญาก็ต้องคืนมัดจำพร้อมทั้งค่าเสียหายให้แก่
    ผู้วางมัดจำ

    ผลของมัดจำ

    มัดจำนั้นถ้ามิได้ตกลงกันไว้เป็นอย่างอื่นกฎหมายให้ปฏิบัติดังนี้ (มาตรา 378)

    1. ให้ส่งคืน หรือจัดเอาเป็นการใช้เงินบางส่วนในเมื่อมีการชำระหนี้ตัวอย่าง ก. จ้าง ข. ตัดชุดสากล 1 ชุด ข. เรียกมัดจำ แต่ ก.ไม่มีเงิน ก.จึงให้สร้อยคอทองคำ 1 เส้นเป็นมัดจำ เมื่อ ข. ตัดชุดสากลเสร็จและ ก. ชำระเงินให้แก่ ข. แล้ว ข. ต้องคืนสร้อยคอทองคำให้แก่ ก. หรือ ก.ไปจ้าง ข. ตัดชุดสากล 1 ชุดในราคา 3,000 บาท ก. ได้ให้มัดจำแก่ ข. ไว้เป็นเงิน 1,000 บาท เมื่อ ข. ตัดชุดสากลเสร็จ ก. ก็ชำระหนี้อีกเพียง 2,000 บาท โดยถือเอาเงิน 2,000 บาท ที่ได้ให้มัดจำนั้นไว้นั้นเป็นการชำระหนี้บางส่วน

    2. ให้ริบ ถ้าฝ่ายที่วางมัดจำละเลยไม่ชำระหนี้ หรือถ้าการชำระหนี้ตกเป็นพ้นวิสัยเพราะ
    พฤติการณ์อันใดอันหนึ่ง ซึ่งฝ่ายที่วางมัดจำต้องรับผิดชอบ หรือถ้ามีการเลิกสัญญาเพราะความผิดของฝ่ายที่วางมัดจำ

    ตัวอย่าง ก. จ้าง ข. ตัดชุดสากล 1 ชุด ก.ให้มัดจำแก่ ข.ไว้เป็นเงิน 1,000 บาท เมื่อ ข.ตัดชุดสากลเสร็จแล้ว ก. ก็ไม่มารับไป และไม่ชำระหนี้ที่เหลือจนเลยกำหนดเวลาที่ตกลงกันไว้ เช่นนี้ ข. ย่อมริบ มัดจำเสียได้

    3. ให้ส่งคืน ถ้าฝ่ายที่รับมัดจำละเลยไม่ชำระหนี้ หรือการชำระหนี้ตกเป็นพ้นวิสัยเพราะ
    พฤติการณ์อันใดอันหนึ่ง ซึ่งฝ่ายที่รับมัดจำต้องรับผิดชอบตัวอย่าง ก. จ้าง ข. ตัดชุดสากล 1 ชุด ให้เสร็จภายใน 15 วัน ก.ได้ให้มัดจำไว้แก่ ข. เป็นเงิน 1,000 บาท เมื่อครบกำหนด 15 วันแล้ว ข. ก็ยังตัดชุดสากลไม่เสร็จ เช่นนี้ ข. ต้องคืนมัดจำแก่ ก.เบี้ยปรับ

    เบี้ยปรับ เป็นข้อสัญญาที่คู่สัญญาฝ่ายลูกหนี้ได้ให้ไว้ต่อเจ้าหนี้ว่าจะให้เงิน หรือชำระหนี้อย่างอื่นที่ไม่ใช่เงิน ซึ่งอาจจะเป็นสิ่งของ การกระทำ หรืองดเว้นการกระทำก็ได้ ตามปกติเบี้ยปรับไม่จำต้องให้ไว้แก่เจ้าหนี้แต่ประการใดตัวอย่าง แดงทำสัญญากับดำว่า หากผิดสัญญาข้อใดข้อหนึ่งยอมให้ปรับเป็นเงิน 20,000 บาทจึงมีลักษณะเป็นเบี้ยปรับ เมื่อแดงผิดสัญญาแดงก็ต้องชำระเบี้ยปรับให้แก่ดำตามสัญญา จะอ้างว่าดำไม่ได้รับความเสียหายไม่ได้ (ฎีกาที่ 2273/2526)ผลของเบี้ยปรับ

    กฎหมายได้บัญญัติให้สิทธิแก่เจ้าหนี้ที่จะเรียกเอาเบี้ยปรับได้ดังนี้

      1. เบี้ยปรับกรณีที่ลูกหนี้ผิดนัดไม่ชำระหนี้เลย ซึ่งแยกพิจารณาได้ดังนี้
      1. ถ้าลูกหนี้ได้สัญญาว่าจะให้เบี้ยปรับเมื่อตนไม่ชำระหนี้ เจ้าหนี้จะเรียกเบี้ยปรับอันจะพึงริบนั้นแทนการชำระหนี้ก็ได้ แต่ถ้าเจ้าหนี้แสดงต่อลูกหนี้ว่าจะเรียกเอาเบี้ยปรับแล้ว ก็เป็นอันหมดสิทธิเรียกร้องให้ชำระหนี้อีกต่อไป (มาตรา 380 วรรค 1)

        ตัวอย่าง ก. ตกลงขายม้าให้ ข. 1 ตัวกำหนดส่งมอบม้าให้ ข.ในวันที่ 1 ตุลาคม 2547 ถ้า ก.ไม่สามารถส่งมอบม้าให้ ข.ได้ในวันดังกล่าว ก. ยอมให้ปรับเป็นเงิน 10,000 บาท เมื่อถึงวันที่ 1 ตุลาคม 2547 ก. ก็ไม่สามารถส่งมอบม้าให้ ข.ได้ ข. มีสิทธิเรียกเบี้ยปรับ 10,000 บาทได้เมื่อ ข. เรียกเอาเบี้ยปรับแล้ว ข. ก็ไม่มีสิทธิเรียกให้ ก. ส่งมอบม้าให้ตนอีก แต่ถ้า ข. ต้องการให้ ก. ส่งมอบม้าให้ ข. ก็หมดสิทธิเรียกเอาเบี้ยปรับ เพราะกฎหมายบัญญัติไว้ให้เจ้าหนี้เลือกเอาได้แต่เพียงอย่างเดียว คือถ้าเรียกเอาเบี้ยปรับแล้วก็ย่อมหมดสิทธิเรียกร้องให้ชำระหนี้ หรือเรียกร้องให้ชำระหนี้แล้วย่อมเรียกร้องเอาเบี้ยปรับไม่ได้

      2. เมื่อเจ้าหนี้เลือกเอาในทางเรียกเบี้ยปรับแล้ว หากเจ้าหนี้ต้องเสียหายมากไปกว่าเบี้ยปรับแล้ว กฎหมายบัญญัติให้สิทธิเจ้าหนี้พิสูจน์ค่าเสียหายยิ่งกว่าเบี้ยปรับนั้นได้อีกด้วย(มาตรา 380 วรรค 2)

    2. เบี้ยปรับกรณีที่ลูกหนี้ไม่ชำระหนี้ให้ถูกต้องสมควร ซึ่งแยกพิจารณาได้ดังนี้

        1. ถ้าลูกหนี้ได้สัญญาไว้ว่าจะให้เบี้ยปรับเมื่อตนไม่ชำระหนี้ให้ถูกต้องสมควรเช่นว่าไม่ชำระหนี้ตรงตามเวลาที่กำหนดไว้เป็นต้น นอกจากเรียกให้ชำระหนี้ เจ้าหนี้จะเรียกเอาเบี้ยปรับอันจะพึงริบนั้นอีกด้วยก็ได้ (มาตรา 381 วรรค 1) การไม่ชำระหนี้ให้ถูกต้องสมควรหมายถึงการไม่ชำระหนี้ให้ถูกต้องตามสัญญา เช่น ชำระหนี้ไม่ตรงตามชนิด ประเภท ชำระหนี้ขาดตกบกพร่อง เสื่อมคุณภาพ หรือชำระหนี้ไม่ตรงตามเวลา ผลทางกฎหมายกรณีที่ลูกหนี้ผิดนัดไม่ชำระหนี้ให้ถูกต้องสมควรตามมาตรา 381 วรรค 1 นี้ แตกต่างกับกรณีที่ลูกหนี้ผิดนัดไม่ชำระหนี้ตามมาตรา 380 วรรค 1 เพราะในกรณีที่ลูกหนี้ผิดนัดไม่ชำระหนี้ให้ถูกต้องสมควรนั้นเจ้าหนี้มีสิทธิทั้งสองอย่าง คือนอกจากจะเรียกให้ชำระหนี้แล้วเจ้าหนี้ยังเรียกเอาเบี้ยปรับได้อีกด้วย แต่ในที่กรณีลูกหนี้ผิดนัดไม่ชำระหนี้เลยนั้น เจ้าหนี้จะต้องเลือกเอาในทางริบเบี้ยปรับ หรือเรียกร้องให้ชำระหนี้ได้แต่เพียงอย่างเดียว

          ตัวอย่าง ก. จ้าง ข. สร้างบ้านหลังหนึ่งในราคา 1,000,000 บาท โดยให้ ข. สร้างบ้านให้เสร็จภายใน 150 วัน ถ้า ข. สร้างไม่เสร็จภายในกำหนดแล้ว ข. ยอมให้ ก. ปรับเป็นรายวันวันละ 500 บาท จนกว่า ข. จะสร้างเสร็จ ครั้นครบกำหนด 150 วันแล้ว ข. ก็ยังสร้างไม่เสร็จ ก. ก็เรียกเบี้ยปรับได้วันละ 500 บาท และก็มีสิทธิให้ ข. สร้างบ้านต่อไปจนกว่าจะเสร็จอีกด้วย และถ้าการที่ ข. สร้างบ้านไม่เสร็จภายในกำหนดเวลา 150 วันนั้น ก. ต้องเสียหายมากกว่าจำนวนเบี้ยปรับที่เรียกจาก ข. แล้ว ก. อาจเรียกค่า เสียหายเพิ่มเติมได้ ถ้า ก. สามารถพิสูจน์ถึงค่าเสียหายที่เพิ่มขึ้นนั้นได้

        2. ถ้าเจ้าหนี้ยอมรับชำระหนี้แล้ว จะเรียกเอาเบี้ยปรับได้ต่อเมื่อได้บอกสงวนสิทธิไว้เช่นนั้นในเวลารับชำระหนี้ (มาตรา 381 วรรค 3)

    ตัวอย่าง ผู้รับเหมาทำงานเสร็จ แต่ผู้ตรวจงานของผู้ว่าจ้างรายงานว่าไม่ตรงตามสัญญา ผู้ว่าจ้างเรียกเบี้ยปรับ จะถือว่าผู้ว่าจ้างรับงานโดยไม่อิดเอื้อนไม่ได้ จึงเรียกเบี้ยปรับได้ (ฎีกาที่ 1478/2518)

    3. กรณีกำหนดเบี้ยปรับเป็นอย่างอื่นที่มิใช่เงิน ในกรณีที่ลูกหนี้สัญญาว่าจะทำการชำระหนี้อย่างอื่นให้เป็นเบี้ยปรับซึ่งไม่ใช่เป็นจำนวนเงิน ถ้าเจ้าหนี้เรียกเอาเบี้ยปรับแล้ว เจ้าหนี้ย่อมหมดสิทธิเรียกร้องเอาค่าสินไหมทดแทน (มาตรา 382)ตัวอย่าง ก. ตกลงขายรถจักรยานให้ ข. 50 คัน ถ้า ก.ส่งมอบรถจักรยานให้ ข.ไม่ได้ ก. ยอมให้ ข. ปรับเป็นโทรทัศน์ 1 เครื่อง ต่อมา ก.ไม่สามารถส่งมอบรถจักรยานให้ ข. ได้ ข. ย่อมเรียกเบี้ยปรับเป็นโทรทัศน์ได้ 1 เครื่อง แต่ถ้า ข. เสียหายมากกว่าจำนวนเบี้ยปรับที่ได้รับ ข. ก็ไม่สามารถเรียกค่าเสียหายได้ เนื่องจากกำหนดเบี้ยปรับไว้เป็นอย่างอื่นที่ไม่ใช่จำนวนเงิน

    ศาลมีอำนาจลดเบี้ยปรับที่สูงเกินส่วน

    ถ้าเบี้ยปรับที่ริบนั้นสูงเกินส่วน ศาลจะลดลงเป็นจำนวนพอสมควรก็ได้ ในการที่จะวินิจฉัยว่าสมควรเพียงใดนั้น ให้พิเคราะห์ถึงทางได้เสียของเจ้าหนี้ทุกอย่างอันชอบด้วยกฎหมายไม่ใช่แต่เพียงทางได้เสียในเชิงทรัพย์สิน เมื่อได้ใช้เงินตามเบี้ยปรับแล้ว สิทธิเรียกร้องขอลดก็เป็นอันขาดไป (มาตรา 383 วรรค 1) การให้ค่าสินไหมทดแทนความเสียหายในกรณีผิดสัญญานั้นเพื่อชดใช้และให้ความพอใจแก่ฝ่ายที่ไม่ผิดสัญญาสำหรับความเสียหายที่ได้รับจริง ๆ กฎหมายไม่ประสงค์จะให้มีการค้ากำไรในการผิดสัญญา เบี้ยปรับก็คือค่าเสียหายที่ตกลงกันไว้ล่วงหน้า จึงเป็นส่วนหนึ่งของค่าเสียหาย ถ้าเบี้ยปรับสูงเกินส่วนศาลย่อมจะลดลงได้ตัวอย่าง (1) เบี้ยปรับกำหนดไว้วันละ 2,000 บาท ศาลลดลงให้เสียเพียงวันละ 100 บาทได้(ฎีกาที่ 1356/2518)ตัวอย่าง (2) ทรัสต์รีซีทเป็นสัญญาที่เกี่ยวเนื่องกับสัญญาเลตเตอร์ออฟเครดิต ซึ่งถ้าจำเลยที่ 1ปฏิบัติตามทรัสต์รีซีท จำเลยที่ 1 ต้องเสียดอกเบี้ยในจำนวนเงินที่ขอเปิดเลตเตอร์ออฟเครดิตตามอัตราที่กำหนดไว้เท่านั้น แต่ถ้าไม่ปฏิบัติตามสัญญา ธนาคารโจทก์ย่อมมีสิทธิคิดดอกเบี้ยจากจำเลยที่ 1 ได้ในอัตราสูงสุดที่โจทก์กำหนดไว้ นับตั้งแต่เวลาที่สินค้ามาถึงกรุงเทพมหานครถึงวันที่ชำระเงินเมื่ออัตราดอกเบี้ยสูงสุดในแต่ละช่วงเวลาของโจทก์แตกต่างกัน ตามประกาศของโจทก์แต่ละฉบับจำเลยที่ 1 ก็ต้องเสียดอกเบี้ยในอัตราสูงสุดตามที่ประกาศไว้ในช่วงเวลาที่ผิดนัดของสัญญาทรัสต์รีซีทแต่ละฉบับ กรณีไม่ใช่เป็นเรื่องที่โจทก์เปลี่ยนแปลงอัตราดอกเบี้ยตามคำขอเปิดเลตเตอร์ออฟเครดิตของจำเลยที่ 1 ที่โจทก์จะต้องแจ้งให้จำเลยทั้งสองทราบ แต่การที่สัญญาดังกล่าวให้โจทก์คิดดอกเบี้ยจากจำเลยที่ 1 ในอัตราสูงสุดที่ธนาคารโจทก์กำหนดไว้เมื่อจำเลยที่ 1 ไม่ปฏิบัติตามสัญญา จึงเป็นเบี้ยปรับตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 379 ซึ่งหากสูงเกินส่วนศาลมีอำนาจลดลงเป็นจำนวนพอสมควรได้ตามมาตรา 383 (คำพิพากษาฎีกาที่ 303/2545)

    สัญญาจะให้เบี้ยปรับเป็นสัญญาอุปกรณ์

    สัญญาจะให้เบี้ยปรับเป็นสัญญาอุปกรณ์ เมื่อหนี้ตามสัญญาประธานไม่สมบูรณ์ ข้อตกลงเรื่องเบี้ยปรับ อันเป็นสัญญาอุปกรณ์ก็ย่อมไม่สมบูรณ์ดุจกัน (มาตรา 384)ตัวอย่าง ก. ตกลงขายฝิ่นเถื่อนให้ ข. ถ้า ก.ไม่สามารถส่งมอบให้ได้ ก.จะยอมให้ ข.ปรับเป็นเงิน 10,000 บาท เช่นนี้สัญญาซื้อขายฝิ่นเถื่อนเป็นโมฆะ สัญญาจะให้เบี้ยปรับก็ตกเป็นโมฆะไปด้วย

    การเลิกสัญญา

    เหตุแห่งการเลิกสัญญามีดังนี้

    1. เลิกสัญญาโดยข้อสัญญา เช่น ในสัญญามีข้อความว่าถ้าคู่สัญญาฝ่ายหนึ่งผิดสัญญาข้อหนึ่งข้อใด ยอมให้คู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งบอกเลิกสัญญาได้ หรืออาจตกลงกันว่า ถ้ามีเหตุการณ์อย่างใดอย่างหนึ่งเกิดขึ้น ยอมให้ฝ่ายนั้นเลิกสัญญาได้ เป็นต้นตัวอย่าง ก. ให้ ข. เช่าบ้าน 1 หลัง ในสัญญาเช่ากำหนดกันไว้ว่า ถ้า ก. ต้องการรื้อบ้านหลังนี้เพื่อสร้างบ้านหลังใหม่แทนที่ ก. จะเลิกให้ ข. เช่า ดังนี้เมื่อ ก.ต้องการรื้อบ้านหลังนี้เพื่อสร้างบ้านหลังใหม่แทนที่ ก. ก็มีสิทธิบอกเลิกสัญญาเช่าได้

    2. เลิกสัญญาโดยบทบัญญัติแห่งกฎหมาย แยกพิจารณาได้ดังนี้

      1. เลิกสัญญาเพราะลูกหนี้ไม่ชำระหนี้โดยต้องบอกกล่าวให้ลูกหนี้รู้ตัวก่อน กรณีนี้ถ้า เจ้าหนี้ประสงค์จะเลิกสัญญา เจ้าหนี้จะต้องบอกกล่าวให้ลูกหนี้ชำระหนี้เสียภายในระยะเวลาพอสมควร ถ้าลูกหนี้ไม่ชำระหนี้ภายในเวลาที่กำหนดไว้ในคำบอกกล่าว เจ้าหนี้ย่อมมีสิทธิเลิกสัญญาได้ (มาตรา 387)

        ตัวอย่าง ก. ให้ ข. เช่าบ้านโดยคิดค่าเช่าเดือนละ 2,000 บาท กำหนดชำระค่าเช่าทุกวันสิ้นเดือน เช่นนี้ ถ้า ข. ไม่ชำระค่าเช่า ก. ต้องบอกกล่าวให้ ข.นำค่าเช่ามาชำระภายในเวลาที่กำหนดไว้ โดยบอกกล่าวให้ทราบล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 15 วันในกรณีชำระค่าเช่าเป็นรายเดือน ถ้า ข. ไม่ชำระค่าเช่าภายในเวลาที่กำหนดไว้ ก. ยอมเลิกสัญญาเสียได้

         

      2. เลิกสัญญาเพราะลูกหนี้ไม่ชำระหนี้เมื่อหนี้ได้กำหนดเวลาชำระหนี้ไว้แน่นอน โดยคำนึงถึงสภาพของสัญญา หรือโดยเจตนาที่คู่สัญญาได้แสดงไว้ ถ้าไม่ชำระหนี้ภายในกำหนดเวลาดังกล่าว เจ้าหนี้ย่อมเลิกสัญญาเสียได้ โดยไม่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้า (มาตรา 388)

      3. ตัวอย่าง ก. จ้าง ข. ตัดชุดสากล เพื่อจะเดินทางไปต่างประเทศในวันที่ 1 ตุลาคม 2547 เมื่อถึงวันที่ 1 ตุลาคม 2547 แล้ว ข. ก็ยังตัดไม่เสร็จ เช่นนี้ ก.บอกเลิกสัญญาได้โดยไม่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้า เพราะถือว่าระยะเวลาเป็นสาระสำคัญแห่งการชำระหนี้

      4. เลิกสัญญาเพราะการชำระหนี้กลายเป็นพ้นวิสัยทั้งหมดหรือแต่บางส่วนเพราะเหตุอย่างใดอย่างหนึ่งอันจะโทษลูกหนี้ได้ (มาตรา 389)

    ตัวอย่าง ก. จ้าง ข. พิมพ์หนังสือจำนวน 1,000 เล่ม เมื่อ ข. พิมพ์หนังสือเสร็จแล้วก่อนส่งมอบหนังสือให้ ก. ข. กระทำโดยประมาททำให้เกิดไฟไหม้โรงพิมพ์ หนังสือที่ ก. สั่งพิมพ์ก็ไหม้ไปหมดเช่นนี้ถือว่าการชำระหนี้กลายเป็นพ้นวิสัย เพราะเหตุอันจะโทษ ข. ได้ ก. ย่อมเลิกสัญญาเสียได้

    วิธีเลิกสัญญา

    วิธีเลิกสัญญามีดังนี้คือ

    1. การเลิกสัญญานั้นย่อมทำด้วยการแสดงเจตนาแก่อีกฝ่ายหนึ่ง (มาตรา 386 วรรค 1)
    การแสดงเจตนาบอกเลิกสัญญาก็เหมือนการแสดงเจตนาทำนิติกรรม การแสดงเจตนานี้อาจทำได้โดยชัดแจ้ง เช่นมีหนังสือบอกกล่าวเลิกสัญญาไปยังคู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่ง หรือบอกเลิกสัญญาด้วยวาจาก็ย่อมมีผลเป็นการเลิกสัญญาที่ชอบด้วยกฎหมายตัวอย่าง ข้อตกลงในสัญญาจะซื้อขายนาว่า ถ้า ก. ผู้ซื้อชำระราคาไม่ครบ ข. เรียกนาและคืนเงินได้ ฉะนั้นเมื่อ ก. ชำระราคาไม่ครบ ข. ขอคืนเงินที่ ก. ชำระแล้วและเรียกคืนที่ดิน ถือได้ว่า ข. ได้แสดงเจตนาเลิกสัญญาโดยปริยายแล้ว (ฎีกาที่ 853/2522)

    2. การแสดงเจตนาเลิกสัญญา เมื่อแสดงไปแล้วไม่อาจจะถอนได้ (มาตรา 386 วรรค 2)ตัวอย่าง ก. ให้ ข. เช่าบ้านหลังหนึ่งโดยไม่มีกำหนดเวลาว่าให้เช่านานเท่าใด ต่อมา ก. ต้องการเลิกให้เช่า ก็มีจดหมายบอกเลิกการเช่าไปยัง ข. เมื่อ ข.ได้รับจดหมายแล้วก็มีผลเป็นการเลิกเช่า ก. จะบอกถอนการเลิกเช่าไม่ได้

    3. ในสัญญาที่มีคู่สัญญาเป็นบุคคลหลายคนด้วยกัน จะใช้สิทธิเลิกสัญญาได้ต่อเมื่อบุคคลเหล่านั้นทั้งหมดรวมกันใช้สิทธิเลิกสัญญา หรือถ้าฝ่ายที่จะต้องถูกบอกเลิกสัญญามีจำนวนรวมกันหลายคน ฝ่ายบอกเลิกสัญญาก็ต้องแสดงเจตนาเลิกสัญญาต่อบุคคลเหล่านั้นรวมหมดทุกคนด้วย (มาตรา 390)ตัวอย่าง ก. และ ข. ร่วมกันไปทำสัญญาเช่าบ้านหลังหนึ่งจาก ค. โดยไม่มีกำหนดเวลาว่าเช่านาน
    เท่าใด ต่อมา ค. ต้องการเลิกให้เช่า ค. จะบอกเลิกสัญญากับ ก. หรือ ข. คนใดคนหนึ่งไม่ได้ ค. ต้องแสดงเจตนาเลิกสัญญาเช่าทั้ง ก. และ ข. รวมกัน

    ผลของการเลิกสัญญา

    ผลของการเลิกสัญญานั้น ทำให้สิทธิที่มีอยู่ตามสัญญาระงับไป และก่อให้เกิดสิทธิใหม่ตามกฎหมายอันว่าด้วยผลแห่งการบอกเลิกสัญญา ดังบัญญัติไว้ในมาตรา 391 ซึ่งแยกพิจารณาได้ดังนี้

    1. เมื่อคู่สัญญาฝ่ายหนึ่งได้ใช้สิทธิเลิกสัญญาแล้ว คู่สัญญาแต่ละฝ่ายจำต้องให้อีกฝ่ายหนึ่งกลับคืนมีฐานะดังที่เป็นอยู่เดิมตัวอย่าง ก. ให้ ข. เช่าบ้านหลังหนึ่งมีกำหนดระยะเวลา 3 ปี เมื่อครบกำหนด 3 ปีแล้ว ก. บอกเลิกสัญญา ข. ต้องคืนบ้านให้แก่ ก.

     

     

    2. การกลับคืนสู่ฐานะเดิมนี้จะทำให้เป็นที่เสื่อมเสียแก่สิทธิของบุคคลภายนอกไม่ได้ตัวอย่าง ก.ขายรถยนต์หนึ่งคันให้ ข.โดยมีข้อสัญญาว่ากรรมสิทธิ์ในรถยนต์ยังไม่โอนไปจนกว่า ข. จะชำระราคาให้เสร็จสิ้นภายในวันที่ 31 ธันวาคม 2547 ต่อมาวันที่ 1 ธันวาคม 2547 ข.ได้ขายรถยนต์คันนี้ให้ ค. ครั้นถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2547 ข.ก็ไม่ชำระหนี้ที่เหลือ ก.จึงบอกเลิกสัญญา ก.จะเอารถยนต์คืนจาก ค.ไม่ได้ เพราะการกลับคืนสู่ฐานะเดิมนั้นจะทำให้เป็นที่เสื่อมเสียแก่สิทธิของบุคคลภายนอกไม่ได้

    3. สำหรับการคืนเงินนั้น ให้บวกดอกเบี้ยเข้าด้วย คิดตั้งแต่เวลาที่ได้รับเงินนั้นไว้ตัวอย่าง ก. ตกลงซื้อที่ดินจาก ข. กำหนดส่งมอบและโอนโฉนดกันในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2548 ก. ได้ให้มัดจำไว้แก่ ข. เป็นเงิน 100,000 บาท ตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2547 อันเป็นวันทำสัญญาซื้อขาย ครั้นถึงวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2548 ข. ก็ไม่สามารถส่งมอบและโอนโฉนดให้ ก. ได้ ก. ย่อมมีสิทธิเลิกสัญญา เรียกมัดจำ 100,000 บาทคืน และเรียกดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี (ในกรณีที่ไม่ได้กำหนดอัตราดอกเบี้ยกันไว้ กฎหมายให้คิดได้ในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี) โดยคิดดอกเบี้ยได้ตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2547

    4. การใช้สิทธิเลิกสัญญานั้น ไม่กระทบกระทั่งถึงสิทธิเรียกค่าเสียหายตัวอย่าง ก. ตกลงขายที่ดินให้ ข. 1 แปลงในราคา 500,000 บาท กำหนดจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์กันในวันที่ 1 ตุลาคม 2547 เมื่อถึงวันที่ 1 ตุลาคม 2547 ก.ไม่ยอมไปจดทะเบียนโอนกรรมสิทธ์ให้ ข. ข. ย่อมมีสิทธิเลิกสัญญาได้ และในวันที่ 1 ตุลาคม 2547 ที่ดินแปลงนี้มีราคาสูงถึง 800,000 บาท เช่นนี้ ข. ย่อมเรียกค่าเสียหายเพราะการที่ที่ดินมีราคาสูงขึ้นได้

    5. ในการเลิกสัญญานั้น ส่วนที่เป็นการงานอันได้กระทำให้และเป็นการยอมให้ใช้ทรัพย์นั้น การที่จะชดใช้คืน ให้ทำได้ด้วยใช้เงินตามควรค่าแห่งการนั้น ๆ หรือถ้าในสัญญามีกำหนดว่าให้ใช้เงินตอบแทนก็ให้ใช้ตามนั้นตัวอย่าง ก. จ้าง ข. ทำถนน แต่ ข. ทำงานไม่แล้วเสร็จตามลำดับงวดของงาน ก. จึงบอกเลิกสัญญา อันเป็นผลให้คู่สัญญาต่างกลับคืนสู่ฐานะที่เป็นอยู่เดิม หมดพันธะผูกพันในอันที่จะต้องปฏิบัติต่อกัน ส่วนที่เป็นการงานที่ ข. ได้กระทำและยอมให้ ก. ได้ใช้ทรัพย์นั้น แม้ตามสัญญาระหว่าง ก. และ ข.จะไม่มีข้อกำหนดให้ชดใช้เงินตอบแทนในเรื่องนี้ไว้ ข. ก็มีสิทธิที่จะได้รับการชดใช้คืนด้วยการใช้เป็นเงินตามควรค่าของผลงานที่ทำ (ฎีกาที่ 2014/2523)

    สิทธิเลิกสัญญาระงับ

    สิทธิเลิกสัญญาระงับไปเพราะเหตุดังนี้

    1. ฝ่ายที่มีสิทธิเลิกสัญญามิได้บอกกล่าวเลิกสัญญาภายในระยะเวลาที่กำหนด ถ้ามิได้กำหนดระยะเวลาไว้ให้ใช้สิทธิเลิกสัญญา คู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งจะกำหนดระยะเวลาพอสมควร แล้วบอกกล่าวให้ฝ่ายที่มีสิทธิเลิกสัญญานั้นแถลงให้ทราบภายในระยะเวลานั้นก็ได้ ว่าจะเลิกสัญญาหรือไม่ ถ้ามิได้รับคำบอกกล่าวเลิกสัญญาภายในระยะเวลานั้น สิทธิเลิกสัญญาก็เป็นอันระงับสิ้นไป (มาตรา 393)ตัวอย่าง ก. จ้าง ข. ตัดชุดประกวดนางงามสงกรานต์ให้เสร็จภายในวันที่ 12 เมษายน 2547 ต่อมา ข. เห็นว่าจะตัดชุดไม่เสร็จ จึงบอกกล่าวไปยัง ก. ว่าจะเลิกสัญญาหรือไม่โดยให้ตอบมาภายใน3 วัน เมื่อ ก. ได้รับคำบอกกล่าวแล้วก็ไม่ตอบไปภายใน 3 วัน เช่นนี้ ก. ย่อมหมดสิทธิเลิกสัญญา สิทธิเลิกสัญญาก็เป็นอันระงับไป

    2. เมื่อไม่อาจคืนทรัพย์อันเป็นวัตถุแห่งสัญญาตามสภาพที่เป็นอยู่เดิมได้ ซึ่งมีบัญญัติไว้ในมาตรา 394 ดังนี้

      1. ถ้าทรัพย์อันเป็นวัตถุแห่งสัญญานั้นบุบสลายไปในส่วนสำคัญ เพราะการกระทำหรือเพราะความผิดของบุคคลผู้มีสิทธิเลิกสัญญา หรือบุคคลนั้นได้ทำให้การคืนทรัพย์กลายเป็นพ้นวิสัย หรือเปลี่ยนแปลงทรัพย์นั้นให้ผิดแผกไปเป็นอย่างอื่นด้วยประกอบขึ้นหรือดัดแปลง สิทธิเลิกสัญญาก็เป็นอันระงับสิ้นไป
      2. แต่ถ้าทรัพย์อันเป็นวัตถุแห่งสัญญาได้สูญหายหรือบุบสลายไปโดยปราศจากการกระทำหรือความผิดของบุคคลผู้มีสิทธิเลิกสัญญา สิทธิเลิกสัญญาก็ยังไม่ระงับไป

    ตัวอย่าง ก.ขายรถยนต์กระบะให้ ข. 1 คัน โดยระบุว่ารถยนต์คันนี้มีเครื่องยนต์ใหม่เอี่ยม กำลังเครื่องยนต์ดีวิ่งได้เร็วถึง 120 กิโลเมตรต่อชั่วโมง เมื่อ ข. ซื้อไปแล้วได้ตรวจสอบดูแล้วปรากฏว่าเครื่องยนต์ของรถยนต์คันนี้เก่า กำลังเครื่องยนต์ไม่ดี วิ่งได้เร็วแค่ 80 กิโลเมตรต่อชั่วโมง เช่นนี้ ข. มีสิทธิเลิกสัญญาได้ แต่ถ้า ข.ได้ต่อเติมรถยนต์คันนี้โดยติดตั้งหลังคาและที่นั่งเป็นรถยนต์โดยสาร ข. ย่อมหมดสิทธิเลิกสัญญา เพราะ ข.ได้ทำการเปลี่ยนแปลงสภาพของรถยนต์ สิทธิเลิกสัญญาก็เป็นอันระงับไป

     

     

     

     

     

    แบบฝึกหัดหน่วยที่ 6

    กฎหมายลักษณะสัญญา

    ให้เลือกคำตอบที่ถูกต้องที่สุด

    1. ข้อใดถูกต้อง

    1. สัญญาเป็นนิติกรรมชนิดหนึ่ง
    2. สัญญาเป็นพินัยกรรมชนิดหนึ่ง
    3. นิติกรรมต้องเป็นสัญญาเสมอ
    4. พินัยกรรมเป็นสัญญาชนิดหนึ่ง

    2. ข้อใดมิได้เป็นสัญญา

    1. ตั๋วเงิน
    2. ค้ำประกัน
    3. จ้างทำของ
    4. จัดการงานนอกสั่ง

    3. การทำคำเสนอขายสินค้าต่อบุคคลเฉพาะหน้า ทำได้โดยวิธีใด

    1. ทางโทรศัพท์
    2. ทางโทรเลข
    3. ฝากคนไปบอก
    4. ทางจดหมายด่วน

    4. หนังสือของโจทก์ถึงจำเลยว่า "ข้าพเจ้าจึงขอความกรุณารับซื้อไม้สักนี้ต่อไป ส่วนราคานั้นทางการ
    จะขายเท่าใด แล้วแต่จะเห็นสมควร" เช่นนี้เป็นอะไร

    1. เป็นคำเสนอ
    2. เป็นคำสนอง
    3. เป็นสัญญาจะซื้อ
    4. มิได้เป็นคำเสนอ

    5. ข้อใดที่ถือว่าคำเสนอไม่สิ้นความผูกพัน

    1. เมื่อได้มีการบอกปัดไปยังผู้เสนอแล้ว
    2. ผู้เสนอตาย และคู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่งไม่ทราบ
    3. เมื่อไม่มีการสนองรับภายในเวลาที่กำหนด
    4. ผู้เสนอตาย และคู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่งได้ทราบแล้วก่อนที่จะสนองตอบไป

    6. คำสนองมาถึงล่วงเวลา จะมีผลอย่างไร

    1. คำสนองนั้นเป็นโมฆะ
    2. คำสนองนั้นเป็นโมฆียะ
    3. คำสนองนั้นมีผลสมบูรณ์
    4. คำสนองนั้นกลายเป็นคำเสนอขึ้นใหม่

    7. จันทร์เสนอขายรถยนต์ทางโทรศัพท์ไปยังอังคารในราคา 700,000 บาท อังคารตอบทางโทรศัพท์ว่า
    ให้ราคาเพียง 650,000 บาทถ้วน คำตอบของอังคารเช่นนี้ถือว่าเป็นอะไร

    1. เป็นคำมั่น
    2. เป็นคำตกลง
    3. เป็นคำเสนอขึ้นใหม่
    4. เป็นคำสนองขึ้นใหม่

    8. วลีต้องการซื้อสินค้าจากทิพย์ จึงเขียนจดหมายสั่งซื้อไปยังทิพย์ เมื่อวลีเอาจดหมายไปใส่
    ตู้ไปรษณีย์เรียบร้อยแล้ว จึงเดินทางกลับบ้าน ระหว่างทางวลีถูกรถชนตาย การแสดงเจตนาซื้อ
    สินค้าของวลีจะมีผลอย่างไร

    1. สมบูรณ์
    2. เป็นโมฆะ
    3. เป็นโมฆียะ
    4. การแสดงเจตนานั้นเสื่อมเสียไป

    9. แดงส่งคำเสนอขายรถยนต์ไปยังขาวทางจดหมายในราคาคันละ 700,000 บาท โดยระบุว่าถ้าขาว
    ต้องการซื้อให้ตอบมาภายใน 1 เดือน เมื่อส่งคำเสนอไปแล้ว แดงก็หัวใจวายตายไปก่อนที่ขาวจะส่งคำสนองตอบกลับมา ดังนี้ถ้าขาวสนองตอบคำเสนอมาภายในกำหนดเวลา โดยไม่รู้ถึงความตายของแดง ดังนี้มีผลเป็นอย่างไร

    1. สัญญาซื้อขายเกิดขึ้น
    2. สัญญาซื้อขายไม่เกิดขึ้น
    3. สัญญาซื้อขายเป็นโมฆะ
    4. สัญญาซื้อขายเป็นโมฆียะ

    10. ในการทำสัญญา ถ้ามีการให้ทรัพย์สินสิ่งหนึ่งสิ่งใดไว้เป็นหลักฐาน และเป็นประกันเพื่อปฏิบัติตาม
    สัญญา การให้ประกันเช่นนี้เรียกว่าอะไร

    1. มัดจำ
    2. เบี้ยปรับ
    3. ค่าสินไหมทดแทน
    4. มัดจำและเบี้ยปรับ

    11. สิ่งที่เป็นมัดจำได้ กฎหมายกำหนดไว้อย่างไร

    1. เป็นเงินหรือสิ่งของก็ได้
    2. สิ่งของใช้เป็นมัดจำไม่ได้
    3. ต้องเป็นสิ่งของอย่างเดียว
    4. ต้องเป็นเงินตราอย่างเดียว

    12. ประโยชน์ของเบี้ยปรับคืออะไร

    1. เป็นหลักฐานการทำสัญญา
    2. เป็นการประกันที่จะปฏิบัติตามสัญญา
    3. เป็นการตัดภาระการนำสืบค่าเสียหายของเจ้าหนี้
    4. เป็นหลักฐานการทำสัญญาและเป็นการประกันที่จะปฏิบัติตามสัญญา

    13. ข้อใดเป็นลักษณะของเบี้ยปรับ

    1. เป็นค่าสินไหมทดแทนที่คู่กรณีกำหนดไว้ล่วงหน้า
    2. ต้องมีการส่งมอบเงินหรือทรัพย์สินกันในขณะทำสัญญา
    3. เป็นเงินหรือสิ่งของที่มอบไว้เป็นหลักประกันว่าจะปฏิบัติตามสัญญา
    4. ให้จัดเป็นส่วนหนึ่งของการชำระหนี้ ถ้าคู่สัญญาไม่ปฏิบัติตามสัญญา

    14. กมลทำสัญญาขายฝิ่นเถื่อนให้จารุ โดยมีข้อตกลงว่าถ้าส่งมอบฝิ่นให้ไม่ได้ ยอมให้ปรับเป็นเงิน 100,000 บาท ข้อตกลงให้เบี้ยปรับนี้มีผลอย่างไร

    1. สมบูรณ์
    2. เป็นโมฆะ
    3. เป็นโมฆียะ
    4. การแสดงเจตนานั้นเสื่อมเสียไป

    15. เบี้ยปรับ กฎหมายกำหนดไว้เป็นอะไร

    1. เงินสด
    2. รถยนต์
    3. แคชเชียร์เช็ค
    4. ทรัพย์สินอะไรก็ได้

    16. กิ่งกาญจน์จ้างปนัดดาตัดชุดเพื่อใส่ประกวดในงานวันสงกรานต์วันที่ 13 เมษายน 2547 แต่ปนัดดาตัดให้ไม่เสร็จทันเวลา กิ่งกาญจน์จะมีสิทธิอย่างไร

    1. บอกเลิกสัญญาได้
    2. บอกเลิกสัญญาไม่ได้
    3. เรียกค่าเสียหายได้
    4. บอกเลิกสัญญาและเรียกค่าเสียหายได้

    17. เหลืองจ้างชมพูให้มาร้องเพลงที่ห้องอาหารของตนในวันที่ 1 มิถุนายน 2547 ถ้าชมพูไม่มาร้องเพลงตามกำหนดเวลา เหลืองมีสิทธิอย่างไร

    1. เรียกมัดจำได้
    2. เรียกเบี้ยปรับได้
    3. เรียกค่าเสียหายได้
    4. ฟ้องบังคับให้มาร้องเพลงได้

    18. สัญญาตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์หมายถึงอะไร

    1. หลักฐานที่ทำไว้เป็นหนังสือ
    2. ข้อตกลงที่ทำด้วยวาจามีพยานรู้เห็นด้วย
    3. ข้อความที่กำหนดให้ทำอย่างใดอย่างหนึ่ง
    4. ความตกลงที่ก่อให้เกิดหนี้ระหว่างบุคคลสองฝ่าย

    19. เงินมัดจำ ถ้าไม่ได้ตกลงว่าจะทำอย่างไร เมื่อปฏิบัติตามสัญญาเรียบร้อยแล้วให้ทำอย่างไร

    1. ริบเสีย
    2. ส่งคืนแก่บุคคลอื่น
    3. จัดเป็นการชำระหนี้บางส่วน
    4. เอาไว้เป็นประกันหนี้รายต่อไป

    20. คำเสนอแสดงออกได้ด้วยวิธีอย่างไร

    1. ด้วยกิริยา
    2. ด้วยวาจา
    3. เป็นลายลักษณ์อักษร
    4. ด้วยกิริยา วาจา หรือเป็นลายลักษณ์อักษร

     

     

     

     

     

     

     

     

     

     

     

     

     

     

     

     

     

     

    เฉลย บทที่ 6

    1. 1

    2. 4

    3. 1

    4. 4

    5. 2

    6. 4

    7. 3

    8. 1

    9. 1

    10. 1

    11. 1

    12. 3

    13. 1

    14. 2

    15. 4

    16. 4

    17. 3

    18. 4

    19. 3

    20. 4


    โดย : Administrator  วัน - เวลา : ศุกร์ 19 กุมภาพันธ์ 2553 | 11:38:02   From ip : 58.8.141.85

    ร่วมแสดงความคิดเห็น
    ชื่อผู้แสดงความคิดเห็น :
    อีเมลล์ (E-mail) :
    แสดงความคิดเห็น :
    ภาพประกอบ :




    ** สูงสุด 6 ภาพ ต่อการโพส 1 ครั้งคะ ใช้ภาพที่เป็นสกุล .jpg, .gif, .png นะคะ ชื่อไฟล์ขอเป็นภาษาอังกฤษนะคะ

    รหัสอ้างอิง :

      


    http://www.thailawyer.net/ ให้คุณมากกว่าที่คุณคิด