ร่วมแสดงความคิดเห็นในหัวข้อ |
ย้อนกลับ
|
ถัดไป
|
|
|
เช่าซื้อรถยนต์ อายุความสัญญาเช่าซื้อ ๖ เดือนนับจากวันที่ผิดสัญญา , อายุความเรียกค่าขาดประโยชน์ ๑๐ ปี
|
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6121/2545
โจทก์ บริษัทสยามพาณิชย์ลีสซิ่ง จำกัด (มหาชน) จำเลย นายมนตรี ศิลปสม กับพวก
กฎหมายที่เกี่ยวข้อง ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/30 , 391 , 563 , 572 อายุความ ผลของการเลิกสัญญา อายุความผู้ให้เช่าฟ้องผู้เช่า เช่าซื้อ ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 94 สืบพยานบุคคลแก้ไขเอกสาร
สัญญาเช่าซื้อระบุให้ผู้เช่าซื้อนำค่าเช่าซื้อที่ค้างชำระไปชำระ ณ สถานที่ซึ่ง เป็นภูมิลำเนาของเจ้าของ จึงเป็นภาระหน้าที่ของจำเลยที่ 1 ผู้เช่าซื้อที่ต้องนำเงิน ค่างวดไปชำระ ณ สถานที่ซึ่งเป็นภูมิลำเนาของโจทก์ผู้ให้เช่าซื้อ การที่จำเลยที่ 1 นำสืบถึงข้อตกลงว่าพนักงานของโจทก์จะเป็นผู้ไปเก็บค่างวดแก่จำเลยที่ 1 เอง จึงเป็นการแตกต่างไปจากที่ระบุไว้ในสัญญา เป็นการนำสืบพยานบุคคลเพิ่มเติม เอกสารสัญญาเช่าซื้อ ต้องห้ามมิให้รับฟังตาม ป.วิ.พ. มาตรา 94 (ข) ประกอบ ป.พ.พ. มาตรา 572 วรรคสอง เมื่อจำเลยที่ 1 ไม่ได้ชำระค่าเช่าซื้อแก่โจทก์ จึงเป็นการผิดสัญญา สัญญาเช่าซื้อเป็นอันเลิกกันทันทีโดยเจ้าของผู้ให้เช่าซื้อไม่ต้อง บอกกล่าวก่อน ฟ้องโจทก์ที่ให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายอันเป็นค่าขาดประโยชน์และค่าขาดราคา ไม่มีกฎหมายบัญญัติอายุความไว้โดยเฉพาะ จึงต้องใช้อายุความสิบปีตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/30 เพราะมิใช่กรณีที่ผู้ให้เช่าฟ้องผู้เช่าเกี่ยวแก่สัญญาเช่านั้น อันจะต้องใช้สิทธิฟ้องภายใน 6 เดือน นับแต่วันส่งคืนทรัพย์สินที่เช่าตาม ป.พ.พ. มาตรา 563
รายละเอียด โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องว่า เมื่อวันที่ 21 มิถุนายน 2538 จำเลยที่ 1 ทำสัญญาเช่าซื้อรถยนต์ไปจากโจทก์ในราคา 1,101,532.73 บาท ชำระในวัน ทำสัญญา 112,149.53 บาท ส่วนที่เหลือผ่อนชำระงวดละ 22,055 บาท รวม 48 งวด เริ่มชำระงวดแรกวันที่ 10 กรกฎาคม 2538 และทุกวันที่ 10 ของทุกเดือน จนกว่าจะครบ โดยมีจำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกันยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม หลังจาก ทำสัญญาจำเลยที่ 1 ผิดนัดไม่ชำระค่าเช่าซื้อแก่โจทก์ตั้งแต่งวดที่ 3 ถือว่าสัญญาเลิก กันทันที แต่จำเลยที่ 1 ไม่คืนรถยนต์ให้โจทก์ ต่อมาวันที่ 18 พฤศจิกายน 2540 โจทก์ติดตามยึดรถยนต์คืนได้ในสภาพเสื่อมโทรมและเสียค่าติดตามนำรถยนต์กลับคืน เป็นเงิน 3,600 บาท โจทก์นำรถยนต์ออกขายได้ราคาเพียง 372,000 บาท ทำให้ โจทก์ได้รับความเสียหาย ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระค่าเสียหายจำนวน 839,660.35 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่า จะชำระเสร็จแก่โจทก์ จำเลยที่ 1 ให้การว่า จำเลยที่ 1 และโจทก์ตกลงกันว่าพนักงานของโจทก์ จะมาเก็บค่างวดเช่าซื้อที่ภูมิลำเนาของจำเลยที่ 1 เอง แต่โจทก์ไม่ได้ให้พนักงานมา เก็บค่าเช่าซื้องวดที่ 4 จำเลยที่ 1 ไม่ผิดสัญญา สัญญาเช่าซื้อจึงยังไม่เลิกกันทันที โจทก์ไม่มีสิทธิยึดรถยนต์คืน ขอให้ยกฟ้อง จำเลยที่ 2 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา ศาลชั้นต้นพิพากษา ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 462,000 บาท พร้อม ดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าว นับแต่วันที่ 28 กรกฎาคม 2541 ซึ่งเป็นวันถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเงินเสร็จแก่โจทก์ คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก จำเลยที่ 1 อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน จำเลยที่ 1 ฎีกา ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า "พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงฟังได้เป็นยุติว่า เมื่อวันที่ 21 มิถุนายน 2538 จำเลยที่ 1 ทำสัญญาเช่าซื้อรถยนต์ตามฟ้องจากโจทก์ในราคา 1,101,532.73 บาท ชำระในวันทำสัญญา 112,149.53 บาท ส่วนที่เหลือผ่อน ชำระงวดละ 22,055 บาท เป็นเวลา 48 งวด โดยชำระทุกวันที่ 10 ของเดือน มีจำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกันยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม หลังจากทำสัญญาเช่าซื้อแล้ว จำเลยที่ 1 ชำระค่าเช่าซื้อให้แก่โจทก์ 2 งวด คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ข้อแรกว่า จำเลยที่ 1 ผิด สัญญาเช่าซื้อต่อโจทก์หรือไม่ จำเลยที่ 1 ฎีกาว่า ทางปฏิบัติจำเลยที่ 1 และโจทก์ ตกลงกันว่า พนักงานของโจทก์จะมาเก็บค่างวดเช่าซื้อที่ภูมิลำเนาของจำเลยที่ 1 เอง แต่พนักงานของโจทก์ไม่มา จำเลยที่ 1 จึงไม่ได้ชำระค่าเช่าซื้อให้แก่โจทก์ เห็นว่า ตามสัญญาเช่าซื้อเอกสารหมาย จ. 5 ข้อ 2 ระบุว่า ผู้เช่าซื้อจะนำค่าเช่าซื้อที่ค้าง ไปชำระ ณ สถานที่ซึ่งเป็นภูมิลำเนาของเจ้าของตามกำหนดต่อไปนี้รวม 48 งวด เป็นเงิน 989,383.20 บาท โดยยังไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่มร้อยละ 7 งวดละ 20,612.15 บาท ทุกวันที่ 10 ของแต่ละเดือน เริ่มตั้งแต่งวดวันที่ 10 กรกฎาคม 2538 เป็นต้นไป ตามข้อสัญญาดังกล่าวกำหนดเป็นภาระหน้าที่ที่จำเลยที่ 1 ผู้เช่าซื้อจะต้องนำค่างวดเช่าซื้อไปชำระ ณ สถานที่ซึ่งเป็นภูมิลำเนาของโจทก์ผู้ให้ เช่าซื้อ การที่จำเลยที่ 1 นำสืบว่า มีการตกลงกันว่าพนักงานของโจทก์จะไปเก็บ ค่างวด,เช่าซื้อแก่จำเลยที่ 1 เอง ซึ่งแตกต่างไปจากข้อตกลงที่ระบุไว้ในสัญญาเช่าซื้อ ดังกล่าว จึงเป็นการนำสืบพยานบุคคลเพิ่มเติมเอกสารสัญญาเช่าซื้อ อันเป็นการต้อง ห้ามมิให้รับฟังตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 94 (ข) ประกอบ ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 572 วรรคสอง ข้อต่อสู้ของจำเลยที่ 1 ดังกล่าวจึงรับฟังไม่ได้ จำเลยที่ 1 มีหน้าที่ต้องนำค่างวดเช่าซื้อไปชำระ ณ สถานที่ ซึ่งเป็นภูมิลำเนาของโจทก์ตามที่ระบุไว้ในสัญญาเช่าซื้อข้อ 2 เมื่อจำเลยที่1 เบิกความรับว่าไม่ได้ชำระค่าเช่าซื้อให้แก่โจทก์ จึงเป็นการผิดสัญญาต่อโจทก์ตาม สัญญาเช่าซื้อเอกสารหมาย จ. 5 ข้อ 10 ที่ระบุว่า ถ้าผู้เช่าซื้อผิดนัดชำระค่าเช่าซื้อ งวดหนึ่งงวดใด ถือว่าสัญญาเลิกกันทันทีโดยเจ้าของไม่ต้องบอกกล่าวก่อน ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ข้อที่สองมีว่า โจทก์มีสิทธิเรียกร้อง ค่าขาดประโยชน์จากการใช้รถยนต์ที่เช่าซื้อไปหรือไม่ เพียงใด จำเลยที่ 1 ฎีกาว่า สัญญาเช่าซื้อระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 สิ้นสุดลงเมื่อโจทก์มายึดรถยนต์ที่เช่าซื้อคืน จากจำเลยที่ 1 วันที่ 18 พฤศจิกายน 2540 ดังนั้น การครอบครองรถยนต์ที่เช่าซื้อ ของจำเลยที่ 1 ตั้งแต่วันที่จำเลยที่ 1 ผิดนัดไม่ชำระค่าเช่าซื้อจึงเป็นการครอบครอง ในฐานะผู้เช่าซื้อ จำเลอที่ 1 มิได้ทำให้โจทก์ขาดประโยชน์แต่ประการใดนั้น เห็นว่า เมื่อสัญญาเช่าซื้อระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 เลิกกันทันทีที่จำเลยที่ 1 ผิดนัดไม่ชำระ ค่าเช่าซื้อให้แก่โจทก์จึงย่อมมีผลทำให้คู่สัญญาแต่ละฝ่ายได้กลับคืนสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิม แต่ไม่มี่ผลกระทบถึงสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายแก่กันตามทบัญญัติไว้ในประมวลกฎหมาย แพ่งและพาณิชย์ มาตรา 391 การที่สัญญาเช่าซื้อระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 สิ้นสุด ลงแล้ว จำเลยที่ 1 ยังคงครอบครองใช้รถยนต์ที่เช่าซื้อของโจทก์ตลอดมา โดยไม่ยอม ส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนให้แก่โจทก์ ย่อมทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายไม่อาจเข้า ครอบครองและใช้ประโยชน์จากรถยนต์ที่ให้เช่าซื้อ โจทก์จึงมีสิทธิเรียกร้องค่าเสียหาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 391 อันเป็นค่าขาดประโยชน์หรือ ค่าใช้ทรัพย์ของโจทก์ตลอดเวลาที่จำเลยที่ 1 ยังครอบครองทรัพย์ของโจทก์อยู่ ที่ศาลล่างทั้งสองกำหนดค่าขาดประโยชน์เป็นเวลา 27 เดือน ตามที่โจทก์ขอ เป็นเงินเดือนละ 6,000 บาท ให้แก่โจทก์นั้นเหมาะสมแล้ว ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ข้อที่สามมีว่า โจทก์มีสิทธิเรียกร้อง ค่าขาดราคารถยนต์ที่จำเลยที่ 1 เช่าซื้อไปจากโจทก์หรือไม่ จำเลยที่ 1 ฎีกาว่า เมื่อสัญญาเช่าซื้อเลิกกัน โดยจำเลยที่ 1 ส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนโจทก์แล้ว โจทก์ ไม่มีสิทธิเรียกร้องค่าขาดราคาได้อีก เห็นว่า ตามสัญญาเช่าซื้อเอกสารหมาย จ.5 ข้อ 10 ระบุว่า ภายหลังจากสัญญาเลิกกันแล้ว ถ้าทรัพย์สินที่เช่าซื้อมีสภาพหรือราคา ไม่คุ้มค่าเช่าซื้อที่ เหลืออยู่ ผู้เช่าซื้อจะชดใช้ให้เจ้าของจนครบถ้วน เมื่อข้อเท็จจริง ได้ความตามทางนำสืบของโจทก์โดยจำเลยที่ 1 มิได้มีพยานหลักฐานมานำสืบหักล้าง ให้เห็นเป็นอย่างอื่นรับฟังได้ว่า โจทก์ติดตามยึดรถยนต์ที่ให้เช่าซื้อคืนจากจำเลยที่ 1 ตามใบรับมอบและแจ้งสภาพสินค้าเอกสารหมาย จ.7 แล้วนำออกขายโดยเปิดเผย ได้เงินจำนวน 372,000 บาท ตามหลักฐานใบเสร็จรับเงินและใบกำกับภาษีเอกสาร หมาย จ. 8 ทำให้โจทก์ยังขาดราคารถยนต์อยู่อีก ดังนั้นโจทก์จึงมีสิทธิเรียกค่าขาด ราคาได้ตามสัญญาเช่าซื้อข้อ 10 ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ข้อสุดท้ายมีว่า ฟ้องโจทก์ที่ให้ จำเลยที่ 1 ชดใช้ค่าเสียหายอันเป็นค่าขาดประโยชน์และค่าขาดราคาขาดอายุความ หรือไม่ เห็นว่า การฟ้องเรียกค่าเสียหายทั้งสองกรณีไม่มีกฎหมายบัญญัติอายุความไว้ โดยเฉพาะ จึงต้องใช้อายุความสิบปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/30 เพราะมิใช่กรณีที่ผู้ให้เช่าฟ้องผู้เช่าเกี่ยวแก่สัญญาเช่านั้น อันจะต้อง ใช้สิทธิฟ้องภายใน 6 เดือน นับแต่วันส่งคืนทรัพย์สินที่เช่า ตามประมวลกฎหมายแพ่ง และพาณิชย์ มาตรา 563 ดังฎีกาของจำเลยที่ 1 ไม่ ได้ความว่าสัญญาเช่าซื้อสิ้นสุด ลงวันที่ 10 กันยายน 2538 และโจทก์ฟ้องคดีนี้ เมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม 2541 ฟ้องโจทก์ที่ให้จำเลยที่ 1 ชดใช้ค่าเสียหายดังกล่าวจึงไม่ขาดอายุความ ที่ศาลอุทธรณ์ พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาทุกข้อของจำเลยที่ 1 ฟังไม่ขึ้น... พิพากษายืน
(วีระศักดิ์ รุ่งรัตน์ - ไพศาล เจริญวุฒิ - สายันต์ สุรสมภพ)
|
|
โดย : Administrator วัน-เวลา : 6 ธันวาคม 2553 | 21:07:11 From ip : 183.89.207.75 |