TV Online ทุกวันเวลา ๑๐.๐๐-๒๒.๐๐ น.

 ชมรมคนปลดหนี้ & ล้มบนกองฟูก
- ต้องการให้ช่วยแก้ปัญหาหนี้ ถูกทวงหนี้ นายจ้างเอาเปรียบ ถูกให้ออกจากงาน อยากล้มบนกองฟูก
- เราจะช่วยท่านปลดหนี้(ชักดาบ)ตามวิธีทางกฎหมาย

หนี้ บัตรเครดิต แก้ปัญหาหนี้ ชมรมปลดหนี้ ถูกทวงหนี้
  หน้าเว็บหลัก      หน้าหลักบอร์ด      ตั้งคำถาม      ค้นหา      สมัครเข้าชมรมคนปลดหนี้   
สมาชิกบอร์ด ออนไลน์ 23 ท่าน  
:: สมาชิกเข้าระบบ | ชื่อเข้าระบบ :: รหัสผ่าน :
:: ผู้ดูแลระบบ เฉพาะเจ้าหน้าที่ดูแลระบบเท่านั้น
ร่วมแสดงความคิดเห็นในหัวข้อ ย้อนกลับ | ถัดไป
  • จะใช้สิทธิฟ้องคดีต่อศาลปกครอง ต้องทำการร้องทุกข์เสียก่อนที่จะนำเรื่องไปฟ้องคดีต่อศาลปกครอง ไม่เช่นนั้นแล้วศาลก็จะสั่งจำหน่ายคดีองท่านออกจากสารบบความ.

           การร้องทุกข์ตามกฎหมาย และกฎ ก.พ.ค.ใหม่ดังกล่าว จำเป็นอย่างยิ่งที่ “ข้าราชการพลเรือนสามัญ” ทุกท่าน จะต้องศึกษาเรื่องดังกล่าวให้เข้าใจ  เพราะว่าถ้าหากต้องการจะใช้สิทธิฟ้องคดีต่อศาลปกครองเกี่ยวกับเรื่องนี้ จะต้องทำการร้องทุกข์เสียก่อนที่จะนำเรื่องไปฟ้องคดีต่อศาลปกครอง  ไม่เช่นนั้นแล้วศาลก็จะสั่งจำหน่ายคดีองท่านออกจากสารบบความ. ดูรายละเอียดด้านล่าง

    -------------------------------------------

     

                     สรุปสาระสำคัญเกี่ยวกับการร้องทุกข์และการพิจารณาร้องทุกข์ตามกฎหมายใหม่

    * เสมอ กาฬภักดี

                                                        ------------------------------

    การอุทธรณ์ตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ.๒๕๕๑ นั้น ใช้สำหรับกรณีที่ข้าราชการพลเรือนสามัญถูกลงโทษทางวินัยหรือถูกสั่งให้ออกจากราชการ ๖ กรณี  แต่ถ้าเป็นกรณีอื่นๆ นอกจากเรื่องดังกล่าว ตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ.๒๕ จะต้อง “ร้องทุกข์”สำหรับขั้นตอนของการร้องทุกข์ คณะกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรม (ก.พ.ค.) ได้ออกกฎ ก.พ.ค. ว่าด้วยการร้องทุกข์และการพิจารณาวินิจฉัยเรื่องร้องทุกข์ พ.ศ.๒๕๕๑  ประกาศบังคับใช้แล้วตั้งแต่วันที่ ๑๑ ธันวาคม ๒๕๕๑  และแก้ไขเพิ่มเติม  (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๕๒

    ร้องทุกข์ คือ อะไร

      การร้องทุกข์ หมายถึง การร้องเรียนต่อผู้บังคับบัญชาชั้นเหนือขึ้นไป หรือต่อ ก.พ.ค. ว่าตนมีความคับข้องใจอันเกิดจากการปฏิบัติหรือไม่ปฏิบัติต่อตนของผู้บังคับบัญชา (ยกเว้นเรื่องการลงโทษทางวินัยและถูกสั่งให้ออกจากราชการ ๖ กรณี ตามมาตรา ๑๑๐ () () () () () และ () แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ.๒๕๕๑)  เช่น ไม่ได้รับแต่งตั้งในตำแหน่งต่างๆ  การเลื่อนตำแหน่ง การเลื่อนเงินเดือน การย้าย  การโอน หรือ กรณีถูกสั่งให้ออกจากราชการ ๔ กรณี เช่น  ๑) กรณีไม่ผ่านการทดลองการปฏิบัติหน้าที่ฯ ๒) กรณีขาดคุณสมบัติทั่วไปและคุณสมบัติต้องห้ามโดยไม่ได้รับการยกเว้นอยู่ก่อนหรือมีกรณีต้องหาอยู่ก่อนแต่ภายหลังขาดคุณสมบัติเนื่องจากกรณีต้องหาในเรื่อง  อายุไม่ต่ำกว่า ๑๘ ปี  ไร้ความสามารถ/เสมือนไร้ความสามารถ วิกลจริต/จิตฟั่นเฟือน/เป็นโรคต้องห้าม บกพร่องศีลธรรมอันดีจนเป็นที่รังเกียจของสังคม  เป็นกรรมการหรือมีตำแหน่งในพรรคการเมือง  เคยถูกลงโทษปลด/ไล่/ให้ ออกจากราชการ เคยทุจริตการสอบเข้ารับราชการหรือเข้าทำงานในหน่วยงานของรัฐ   ๓) ขาดคุณสมบัติเฉพาะสำหรับตำแหน่งโดยไม่ได้รับอนุมัติจาก ก.พ.อยู่ก่อน  และ ๔) มีการเลิกหรือยุบ หน่วยงานหรือยุบเลิกตำแหน่ง  ข้าราชการที่ถูกสั่งให้ออก ๔ กรณีดังกล่าว ต้องใช้สิทธิร้องทุกข์

                       ดังนั้น การร้องทุกข์เป็นวิธีการหนึ่งที่เปิดโอกาสให้ผู้ใต้บังคับบัญชาได้ระบายความคับข้องใจในการปฏิบัติของผู้บังคับบัญชาเกี่ยวกับการบริหารงานบุคคล ว่ามีการกระทำที่ไม่ถูกต้อง เพื่อให้ผู้บังคับบัญชาได้มีโอกาสทบทวน แก้ไข หรือชี้แจงเหตุผลให้ผู้ร้องทุกข์ได้ทราบและเข้าใจ หรือเพื่อให้ผู้บังคับบัญชาชั้นเหนือขึ้นไป หรือ ก.พ.ค.พิจารณาให้ความเป็นธรรมแก่ตนตามสมควร

      กรณีคับข้องใจที่จะร้องทุกข์ได้ มีอย่างไรบ้าง

                   การปฏิบัติ หรือไม่ปฏิบัติต่อตนของผู้บังคับบัญชา ซึ่งทำให้เกิดความคับข้องใจ อันเป็นเหตุแห่งการร้องทุกข์นั้น ต้องมีลักษณะอย่างหนึ่งอย่างใด ดังนี้

    ­­­­­­­­­­­­­­­­­­­­­__________________________________________________________________________________

                                         * นิติกร ชำนาญการพิเศษ (ด้านวินัย) สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข

     

     

           - ๒ -

     

                      () ไม่ชอบด้วยกฎหมายไม่ว่าจะเป็นการออกกฎ คำสั่ง หรือปฏิบัติ หรือไม่ปฏิบัติอื่นใดโดยไม่มีอำนาจหรือนอกเหนืออำนาจหน้าที่หรือไม่ถูกต้องตามกฎหมาย หรือโดยไม่ถูกต้องตามรูปแบบขั้นตอน หรือวิธีการอันเป็นสาระสำคัญที่กำหนดไว้สำหรับการกระทำนั้น หรือโดยไม่สุจริต หรือมีลักษณะเป็นการเลือกปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรม หรือมีลักษณะเป็นการสร้างขั้นตอนโดยไม่จำเป็นหรือสร้างภาระให้เกิดขึ้นเกินสมควร หรือเป็นการใช้ดุลพินิจโดยมิชอบ

                    () ไม่มอบหมายงานให้ปฏิบัติ

                    () ประวิงเวลา หรือหน่วงเหนี่ยวการดำเนินการบางเรื่องอันเป็นเหตุให้เสียสิทธิ หรือไม่ได้รับสิทธิประโยชน์อันพึงมีพึงได้ในเวลาอันสมควร

                  () ไม่เป็นไปตาม หรือขัดกับระบบคุณธรรม ตามมาตรา ๔๒

    จะต้องร้องทุกข์ต่อใคร

                    เพื่อให้เกิดความเข้าใจและความสัมพันธ์อันดีระหว่างกัน เมื่อมีปัญหาเกิดขึ้นควรจะได้ปรึกษาหารือทำความเข้าใจกัน โดยผู้บังคับบัญชาต้องให้โอกาสและรับฟัง หรือสอบถามเกี่ยวกับปัญหาดังกล่าว เพื่อเป็นทางแห่งการทำความเข้าใจและแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นในชั้นต้น แต่ถ้าผู้มีความคับข้องใจไม่ประสงค์จะปรึกษาหารือ  หรือปรึกษาหารือแล้วไม่ได้รับคำชี้แจง หรือได้รับคำชี้แจงแล้วไม่เป็นที่พอใจ ก็ให้ร้องทุกข์ ตามกฎ ก.พ.ค. ได้ ดังนี้

                    ก. เหตุเกิดจากผู้บังคับบัญชา ให้ร้องทุกข์ต่อผู้บังคับบัญชาชั้นเหนือขึ้นไป ตามลำดับ  คือ

                        (๑)  กรณีที่เหตุแห่งการร้องทุกข์เกิดจากผู้บังคับบัญชาในราชการบริหารส่วนภูมิภาคที่ต่ำกว่าผู้ว่าราชการจังหวัด เช่น สาธารณสุขอำเภอ นายอำเภอ ผู้อำนวยการโรงพยาบาล นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด  ให้ร้องทุกข์ต่อผู้ว่าราชการจังหวัด และให้ผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นผู้มีอำนาจวินิจฉัยร้องทุกข์

                       (๒) กรณีที่เหตุแห่งการร้องทุกข์เกิดจากผู้บังคับบัญชาในราชการบริหารส่วนกลางที่ต่ำกว่าอธิบดี เช่น ผู้อำนวยการกอง หรือผู้อำนวยการสำนัก ให้ร้องทุกข์ต่ออธิบดี และให้อธิบดีเป็นผู้มีอำนาจวินิจฉัยร้องทุกข์  สำหรับกรณีสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข นั้น ถ้าเหตุเกิดจากผู้อำนวยการวิทยาลัยในสังกัดสถาบันพระบรมราชชนก และผู้อำนวยการสำนักหรือหน่วยงานส่วนกลาง จะต้องร้องทุกข์ต่อปลัดกระทรวงสาธารณสุข (ในฐานะอธิบดี)  และปลัดกระทรวงสาธารณสุขเป็นผู้มีอำนาจวินิจฉัยร้องทุกข์  

                     (๓) กรณีที่เหตุแห่งการร้องทุกข์เกิดจากผู้ว่าราชการจังหวัดหรืออธิบดี ให้ร้องทุกข์ต่อปลัดกระทรวงซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาของผู้ร้องทุกข์ และให้ปลัดกระทรวงเป็นผู้มีอำนาจวินิจฉัยร้องทุกข์   อนึ่ง กรณีที่ผู้ว่าราชการมีคำสั่งย้ายหรือเลื่อนเงินเดือนข้าราชการตำแหน่งประเภทวิชาการ ตั้งแต่ระดับชำนาญการพิเศษ ลงมา กฎหมายใหม่บัญญัติให้เป็นอำนาจของผู้ว่าราชการจังหวัดโดยตรง หากจะร้องทุกข์ในเรื่องนี้  จะต้องร้องทุกข์ต่อปลัดกระทรวงสาธารณสุข

     

     

                - ๓ -

     

                     ข. เหตุเกิดจากปลัดกระทรวง  รัฐมนตรีเจ้าสังกัด หรือนายกรัฐมนตรี ให้ร้องทุกข์ต่อ ก.พ.ค.  ดังนั้น ถ้าเหตุร้องทุกข์  เกิดจากปลัดกระทรวงสาธารณสุข  ต้องร้องทุกข์ต่อ  ก.พ.ค.  อนึ่ง  คำสั่งต่างๆของสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุขเกี่ยวกับการบริหารงานบุคคล เช่น บรรจุแต่งตั้ง  เลื่อน ย้าย โอน นั้น ถ้าทำให้ข้าราชการเกิดความคับข้องใจแล้ว จะต้องร้องทุกข์ต่อ ก.พ.ค. ทุกกรณี  สำหรับกรณีผู้ว่า

    ราชการจังหวัดซึ่งได้รับมอบอำนาจจากสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข ให้บรรจุแต่งตั้ง หรือเลื่อนตำแหน่ง ข้าราชการในราชการบริหารส่วนภูมิภาค แม้ว่าจะออกเป็นคำสั่งของจังหวัด ก็ต้องถือว่าเป็นการทำในฐานะปลัดกระทรวงสาธารณสุข กรณีเช่นนี้จะต้องร้องทุกข์ต่อ ก.พ.ค.  ไม่ใช่ร้องทุกข์ต่อปลัดกระทรวงสาธารณสุข

    การร้องทุกข์ ต้องทำอย่างไร

                    การร้องทุกข์ให้ร้องทุกข์ได้สำหรับตนเองเท่านั้น จะร้องทุกข์แทนผู้อื่นไม่ได้ และต้องทำคำร้องทุกข์เป็นหนังสือยื่นต่อผู้มีอำนาจวินิจฉัยร้องทุกข์ภายใน ๓๐ วันนับแต่วันทราบหรือถือว่าทราบเหตุแห่งการร้องทุกข์ โดยคำร้องทุกข์ให้ใช้ถ้อยคำสุภาพและอย่างน้อยต้องมีสาระสำคัญ คือ

                      (๑) ชื่อ ตำแหน่ง สังกัด และที่อยู่สำหรับการติดต่อเกี่ยวกับการร้องทุกข์ของผู้ร้องทุกข์

                      (๒) การปฏิบัติหรือไม่ปฏิบัติที่เป็นเหตุแห่งการร้องทุกข์

                      (๓) ข้อเท็จจริงหรือข้อกฎหมายที่ผู้ร้องทุกข์เห็นว่าเป็นปัญหาของเรื่องร้องทุกข์

                      (๔) คำขอของผู้ร้องทุกข์

                      (๕) ลายมือชื่อของผู้ร้องทุกข์ หรือผู้ได้รับมอบหมายให้ร้องทุกข์แทนกรณีที่จำเป็น

                 จะมอบหมายให้ผู้อื่นร้องทุกข์แทนได้หรือไม่

                   ผู้มีสิทธิรองทุกข์จะมอบหมายให้บุคคลอื่นร้องทุกข์แทนตนได้แต่เฉพาะกรณีที่มีเหตุจำเป็นเท่านั้น คือ กรณี   (๑) เจ็บป่วยจนไม่สามารถร้องทุกข์ได้ด้วยตนเอง  (๒) อยู่ในต่างประเทศและคาดหมายได้ว่าไม่อาจร้องทุกข์ได้ทันภายในเวลาที่กำหนด  และ(๓) มีเหตุจำเป็นอย่างอื่นที่ผู้มีอำนาจวินิจฉัยร้องทุกข์เห็นสมควร ทั้งนี้ จะต้องทำเป็นหนังสือลงลายมือชื่อผู้มีสิทธิร้องทุกข์ พร้อมทั้งหลักฐานแสดงเหตุจำเป็น  ถ้าไม่สามารถลงลายมือชื่อได้ ให้พิมพ์ลายนิ้วมือโดยมีพยานลงลายมือชื่อรับรองอย่างน้อยสองคน 

    หนังสือร้องทุกข์ ต้องส่งหลักฐานใดไปบ้าง

                    ๑. การยื่นคำร้องทุกข์ ให้แนบหลักฐานที่เกี่ยวข้องพร้อมคำร้องทุกข์ด้วย  กรณีที่ไม่อาจแนบพยานหลักฐานที่เกี่ยวข้องได้ เพราะพยานหลักฐานอยู่ในความครอบครองของหน่วยงานทางปกครอง เจ้าหน้าที่ของรัฐ หรือบุคคลอื่น หรือเพราะเหตุอื่นใด ให้ระบุเหตุที่ไม่อาจแนบพยานหลักฐานไว้ด้วย

                    ๒. ให้ผู้ร้องทุกข์ทำสำเนาคำร้องทุกข์และหลักฐานที่เกี่ยวข้อง โดยให้ผู้ร้องทุกข์รับรองสำเนาถูกต้อง ๑ ชุด แนบพร้อมคำร้องทุกข์ด้วย กรณีที่มีเหตุจำเป็นต้องมอบหมายให้บุคคลอื่นร้องทุกข์แทนก็ดี

     

     

     

    - ๔ -

     

    กรณีที่มีการแต่งตั้งทนายความหรือบุคคลอื่นดำเนินการแทนในขั้นตอนใด ๆ ในกระบวนการพิจารณาวินิจฉัยเรื่องร้องทุกข์ก็ดี ให้แนบหลักฐานการมอบหมายหรือหลักฐานการแต่งตั้งไปด้วย

                   ๓. ถ้าผู้ร้องทุกข์ประสงค์จะแถลงการณ์ด้วยวาจาในชั้นพิจารณาของผู้มีอำนาจวินิจฉัยร้องทุกข์ ให้แสดงความประสงค์ไว้ในคำร้องทุกข์ด้วย หรือจะทำเป็นหนังสือต่างหากก็ได้แต่ต้องยื่นหนังสือก่อนที่ผู้มีอำนาจวินิจฉัยร้องทุกข์เริ่มพิจารณา

                        จะยื่นหนังสือร้องทุกข์ได้ที่ใด

                         การยื่นหนังสือร้องทุกข์ ทำได้ ๒ วิธี คือ

                         ๑. ยื่นต่อพนักงานผู้รับคำร้องทุกข์ที่สำนักงาน ก.. (กรณีร้องทุกข์ ต่อ ก.พ.ค.) หรือเจ้าหน้าที่ผู้รับหนังสือตามระเบียบว่าด้วยการสารบรรณของผู้บังคับบัญชาหรือผู้ของผู้บังคับบัญชาที่เป็นเหตุแห่งการร้องทุกข์ หรือของผู้มีอำนาจวินิจฉัยร้องทุกข์

                         ๒. ส่งหนังสือร้องทุกข์ทางไปรษณีย์ลงทะเบียน โดยถือวันที่ที่ทำการไปรษณีย์ต้นทาง ประทับตรารับที่ซองหนังสือร้องทุกข์เป็นวันยื่นคำร้องทุกข์  โดยให้ส่งไปยังผู้บังคับบัญชา หรือ ส่งไปยังสำนักงาน ก.พ.(กรณีร้องทุกข์ ต่อ ก.พ.ค.)

          ขั้นตอนและกระบวนการพิจารณาวินิจฉัยเรื่องร้องทุกข์ของผู้บังคับบัญชา

                         ๑. เมื่อผู้บังคับบัญชาที่มีอำนาจวินิจฉัยร้องทุกข์ ได้รับคำร้องทุกข์แล้วจะมีหนังสือแจ้งพร้อมทั้งส่งสำเนาคำร้องทุกข์ไปให้ผู้บังคับบัญชาที่เป็นเหตุแห่งการร้องทุกข์ทราบ โดยให้ผู้บังคับบัญชานั้นส่งเอกสารหลักฐานที่เกี่ยวข้องและคำชี้แจง ไปให้ผู้มีอำนาจวินิจฉัยร้องทุกข์ประกอบการพิจารณา ภายใน ๗  วันนับแต่วันที่ได้รับหนังสือร้องทุกข์  สำหรับกรณีที่ยื่นคำร้องทุกข์ผ่านผู้บังคับบัญชาที่เป็นเหตุแห่งการร้องทุกข์ก็ให้ปฏิบัติในทำนองเดียวกัน

                        ๒. ให้ผู้มีอำนาจวินิจฉัยร้องทุกข์พิจารณาจากเรื่องราวการปฏิบัติหรือไม่ปฏิบัติต่อผู้ร้องทุกข์ของผู้บังคับบัญชาที่เป็นเหตุแห่งการร้องทุกข์  ในกรณีจำเป็นและสมควร อาจจะขอเอกสารและหลักฐานที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม รวมทั้งคำชี้แจงจากหน่วยราชการ รัฐวิสาหกิจ หน่วยงานอื่นของรัฐ ห้างหุ้นส่วน บริษัท ข้าราชการ หรือบุคคลใด ๆ มาให้ถ้อยคำหรือชี้แจงข้อเท็จจริงเพื่อประกอบการพิจารณาได้ รวมทั้งอาจจะให้ผู้ร้องทุกข์มาแถลงการณ์ด้วยวาจา หรือไม่ก็ได้

                       ๓.  ให้ผู้มีอำนาจวินิจฉัยร้องทุกข์พิจารณาวินิจฉัยเรื่องร้องทุกข์ให้แล้วเสร็จ ๓๐ วันนับแต่วันได้รับคำร้องทุกข์ แต่ถ้ามีความจำเป็นไม่อาจพิจารณา ให้แล้วเสร็จภายในเวลาดังกล่าว ให้ขยายเวลาได้อีกไม่เกิน ๓๐ วัน และให้บันทึกแสดงเหตุผลความจำเป็นที่ต้องขยายเวลาไว้ด้วย

                       ๔.  การพิจารณาวินิจฉัยเรื่องร้องทุกข์ นั้น อาจจะไม่รับเรื่องร้องทุกข์ ยกคำร้องทุกข์ หรือมีคำวินิจฉัยให้แก้ไขหรือยกเลิกคำสั่ง และให้เยียวยาความเสียหาย ให้ผู้ร้องทุกข์ หรือให้ดำเนินการอื่นใดเพื่อ

     

     

     

     

               - ๕ -

     

    ประโยชน์แห่งความยุติธรรม และเมื่อผู้มีอำนาจวินิจฉัยร้องทุกข์ได้พิจารณาวินิจฉัยเรื่องร้องทุกข์ประการใดแล้ว ให้ผู้บังคับบัญชาที่เป็นเหตุแห่งการร้องทุกข์ดำเนินการให้เป็นไปตามคำวินิจฉัยนั้นในโอกาสแรกที่ทำได้ และเมื่อได้ดำเนินการตามคำวินิจฉัยดังกล่าวแล้ว ให้แจ้งให้ผู้ร้องทุกข์ทราบเป็นหนังสือโดยเร็ว คำวินิจฉัยเรื่องร้องทุกข์ของผู้มีอำนาจวินิจฉัยร้องทุกข์นั้นให้เป็นที่สุด

         ขั้นตอนและกระบวนการพิจารณาวินิจฉัยเรื่องร้องทุกข์ของ ก.พ.ค.

    ขั้นตอนและกระบวนการพิจารณาและวินิจฉัยร้องทุกข์ นั้น จะคล้ายกันกับเรื่องอุทธรณ์แต่จะสั้นกว่า ดังนี้

    ๑. ตรวจคำร้องทุกข์ในเบื้องต้น ถ้าคำร้องทุกข์ไม่สมบูรณ์ครบถ้วนก็จะมีการแนะนำให้นำไปแก้ไข แต่ถ้าคำร้องทุกข์ถูกต้องตามหลักเกณฑ์ก็จะเสนอให้ประธาน ก... พิจารณาดำเนินการต่อไป

                          ๒. ก.พ.ค. ตั้งคณะกรรมการวินิจฉัยร้องทุกข์ รวมทั้งแจ้งคำสั่งตั้งคณะกรรมการวินิจฉัยร้องทุกข์ไปให้ผู้ร้องทุกข์ทราบ และผู้ร้องทุกข์อาจยื่นคำคัดค้านกรรมการวินิจฉัยร้องทุกข์ได้

                          . คณะกรรมการวินิจฉัยร้องทุกข์ แต่งตั้งกรรมการเจ้าของสำนวน  และทำการพิจารณาวินิจฉัยว่าคำร้องทุกข์    อาจรับไว้พิจารณาได้หรือไม่

                          ๔. กรณีที่รับคำร้องทุกข์ไว้พิจารณา กรรมการเจ้าของสำนวนจะมีคำสั่งให้คู่กรณีในการร้องทุกข์ (ผู้บังคับบัญชาที่เป็นเหตุแห่งการร้องทุกข์)  ทำคำแก้คำร้องทุกข์ หรือกำหนดประเด็นให้ทำการชี้แจง  โดยกำหนดให้ส่งภายใน ๑๕ วันนับแต่วันที่ได้รับคำสั่งหรือภายในระยะเวลาที่กำหนด พร้อมกับส่งสำเนาคำร้องทุกข์และสำเนาหลักฐานที่เกี่ยวข้องไปให้ด้วย เว้นแต่กรรมการเจ้าของสำนวนเห็นว่าสามารถวินิจฉัยได้จากข้อเท็จจริงในคำร้องทุกข์นั้นโดยไม่ต้องดำเนินการแสวงหาข้อเท็จจริงอีก

                          ๕. ให้คู่กรณีในการร้องทุกข์ทำคำแก้คำร้องทุกข์และคำชี้แจงตามประเด็นที่กำหนดให้โดยชัดแจ้งและครบถ้วน พร้อมส่งพยานหลักฐานที่เกี่ยวข้อง และหลักฐานการรับทราบหรือควรได้ทราบเหตุของการร้องทุกข์ โดยจัดทำสำเนาคำแก้คำร้องทุกข์ สำเนาคำชี้แจง และสำเนาพยานหลักฐานตามจำนวนที่กรรมการเจ้าของสำนวนกำหนด ยื่นภายในระยะเวลาดังกล่าว

                          ๖.  กรรมการเจ้าของสำนวนจัดทำบันทึกสรุปสำนวนเสนอให้องค์คณะวินิจฉัยพิจารณาวินิจฉัย และองค์คณะ อาจให้ดำเนินการแสวงหาข้อเท็จจริงเพิ่มเติมหรือปรับปรุง แล้วนำมาเสนอให้พิจารณาอีกครั้งหนึ่งก็ได้

                          ๗. กรณีองค์คณะวินิจฉัย เห็นว่าข้อเท็จจริงที่ได้มาเพียงพอต่อการวินิจฉัย ก็จะจัดให้มีการประชุมพิจารณาเรื่องร้องทุกข์อย่างน้อยหนึ่งครั้ง เพื่อให้คู่กรณีมีโอกาสมาแถลงด้วยวาจาต่อหน้าองค์คณะวินิจฉัย เว้นแต่ในกรณีที่องค์คณะวินิจฉัยเห็นว่าเรื่องร้องทุกข์นั้นมีข้อเท็จจริงชัดเจนเพียงพอต่อการพิจารณาวินิจฉัยแล้วหรือมีข้อเท็จจริงและประเด็นวินิจฉัยไม่ซับซ้อน

     

     

     

    - -

     

                          ๘. การพิจารณาวินิจฉัยเรื่องร้องทุกข์ อาจมีคำวินิจฉัยไม่รับเรื่องร้องทุกข์ไว้พิจารณา หรือมีคำวินิจฉัยเป็นอย่างอื่น คือ ยกคำร้องทุกข์ หรือมีคำวินิจฉัยให้แก้ไขหรือยกเลิกคำสั่ง และให้เยียวยาความเสียหายให้ผู้ร้องทุกข์ หรือให้ดำเนินการอื่นใด เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม และเมื่อได้จัดทำคำวินิจฉัยเสร็จสิ้นแล้ว ให้รายงาน ก.พ.ค. เพื่อทราบ ทั้งนี้ ให้องค์คณะวินิจฉัยดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน ๙๐ นับแต่วันได้รับคำร้องทุกข์  และอาจขยายเวลาอีก ๒ ครั้งๆละไม่เกิน ๓๐ วัน

                        ๙. เมื่อวินิจฉัยเรื่องร้องทุกข์และดำเนินการรายงาน ก.พ.ค. เพื่อทราบแล้ว ให้แจ้งให้คู่กรณีทราบเป็นหนังสือโดยเร็ว คำวินิจฉัยนั้นให้เป็นที่สุด และคำวินิจฉัยร้องทุกข์ให้ผูกพันคู่กรณีในการร้องทุกข์และผู้ที่เกี่ยวข้องที่จะต้องปฏิบัติตามนับแต่วันที่กำหนดไว้ในคำวินิจฉัยร้องทุกข์นั้น

    ผู้ร้องทุกข์มีสิทธิอย่างไรบ้าง

                    ๑.  ผู้ร้องทุกข์อาจถอนคำร้องทุกข์ที่ยื่นไว้แล้วในเวลาใด ๆ ก่อนที่ผู้มีอำนาจวินิจฉัยร้องทุกข์จะมีคำวินิจฉัยเสร็จเด็ดขาดในเรื่องร้องทุกข์นั้น ก็ได้

                    ๒.  ผู้ร้องทุกข์มีสิทธิคัดค้านผู้ได้รับการตั้งเป็นกรรมการวินิจฉัยร้องทุกข์ โดยทำเป็นหนังสือยื่นต่อประธาน ก... ภายใน ๗ วัน นับแต่วันรับทราบคำสั่งตั้งคณะกรรมการวินิจฉัยร้องทุกข์  ส่วนการคัดค้านผู้บังคับบัญชาที่มีอำนาจวินิจฉัยร้องทุกข์ ให้ผู้บังคับบัญชาของผู้ร้องทุกข์เหนือผู้ถูกคัดค้านเป็นผู้พิจารณาคำคัดค้าน แต่ถ้าเป็นกรณีที่ปลัดกระทรวงเป็นผู้ถูกคัดค้าน ให้ส่งคำคัดค้านไปที่เลขาธิการ ก.พ. ในฐานะเลขานุการ ก.พ.ค. และให้ ก.พ.ค. เป็นผู้พิจารณาคำคัดค้าน

                        สำหรับเหตุคัดค้านนั้นมีดังนี้

                         (๑) เป็นผู้บังคับบัญชาผู้เป็นเหตุให้เกิดความคับข้องใจ หรือเป็นผู้อยู่ใต้บังคับบัญชาของผู้บังคับบัญชาดังกล่าว

                         (๒) มีส่วนได้เสียในเรื่องที่ร้องทุกข์

                         (๓) มีสาเหตุโกรธเคืองกับผู้ร้องทุกข์

                         (๔) มีความเกี่ยวพันทางเครือญาติหรือทางสมรสกับบุคคลตาม (๑) (๒) หรือ (๓) อันอาจก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมแก่ผู้ร้องทุกข์

                    ๓. กรณีที่ผู้ร้องทุกข์ไม่เห็นด้วยกับคำวินิจฉัยนั้น มีสิทธิฟ้องคดีต่อศาลปกครองชั้นต้นต่อไปได้ ภายใน ๙๐ วัน  นับแต่วันที่ทราบหรือถือว่าทราบคำวินิจฉัยร้องทุกข์ ของผู้บังคับที่มีอำนาจวินิจฉัยร้องทุกข์ หรือของคณะกรรมการวินิจฉัยร้องทุกข์

          การร้องทุกข์ตามกฎหมาย และกฎ ก.พ.ค.ใหม่ดังกล่าว จำเป็นอย่างยิ่งที่ “ข้าราชการพลเรือนสามัญ” ทุกท่าน จะต้องศึกษาเรื่องดังกล่าวให้เข้าใจ  เพราะว่าถ้าหากต้องการจะใช้สิทธิฟ้องคดีต่อศาลปกครองเกี่ยวกับเรื่องนี้ จะต้องทำการร้องทุกข์เสียก่อนที่จะนำเรื่องไปฟ้องคดีต่อศาลปกครอง  ไม่เช่นนั้นแล้วศาลก็จะสั่งจำหน่ายคดีองท่านออกจากสารบบความ.

     --------------------------

    ข้อมูลจากคุณอำไพ ดอกแก้ว


    โดย : Administrator วัน-เวลา : 15 สิงหาคม 2553 | 10:39:10   From ip : 183.89.62.65

    ร่วมแสดงความคิดเห็น
    ชื่อผู้แสดงความคิดเห็น :
    อีเมลล์ (E-mail) :
    แสดงความคิดเห็น :
    ภาพประกอบ :




    ** สูงสุด 6 ภาพ ต่อการโพส 1 ครั้งคะ ใช้ภาพที่เป็นสกุล .jpg, .gif, .png นะคะ ชื่อไฟล์ขอเป็นภาษาอังกฤษนะคะ

    รหัสอ้างอิง :

      


    http://www.thailawyer.net/ ให้คุณมากกว่าที่คุณคิด