พระราชบัญญัติ
ว่าด้วยสภากาชาดไทย
พระพุทธศักราช ๒๔๖๑
พระบาทสมเด็จพระรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราวุธ พระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระบรมราชโองการมา ณ พระสุรสีหนาทให้ประกาศทราบทั่วกันว่า
เมื่อปีพระพุทธศักราช ๒๔๓๖ พระราชวงศานุวงศ์และข้าราชการประชาชนชายหญิงมากหลาย ได้มีน้ำใจปรีดีพร้อมเพรียงกันออกเงินเป็นทุนตั้งสมาคมขึ้นอย่างหนึ่ง สำหรับจัดหาเครื่องยาเครื่องพยาบาลให้แก่ทหารซึ่งต้องไปราชการในสนาม กระทำกิจทั้งนี้ด้วยความเมตตาการุณเป็นการเชิดชูเกียรติคุณของชาติบ้านเมือง จึงสมเด็จพระบรมชนกนารถพระบาทสมเด็จพระรามาธิบดีศรีสินทรมหาจุฬาลงกรณ์ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ รับสมาคมนั้นเข้าไว้ในพระบรมราชูปถัมภ์ และพระราชทานนามว่า สภาอุนาโลมแดงแต่ภายหลังเปลี่ยนนามเป็น สภากาชาดไทย และสมเด็จพระบรมราชินีนารถพระบรมราชชนนีพันปีหลวงได้ทรงรับตำแหน่งสภานายิกา มีกรรมการรินีจัดดำเนินการของสภาตลอดมาเป็นลำดับสภาได้ทำประโยชน์ให้แก่มหาชนเป็นเอนกประการ เช่น สร้างโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ขึ้นเป็นที่รักษาพยาบาลคนเจ็บไข้ทั่วไป ทั้งตั้งโรงเรียนนางพยาบาลเพื่อฝึกหัดสั่งสอนกุลสตรีให้มีความรู้ในเชิงการพยาบาลไข้และช่วยการคลอดบุตร สำหรับทำคุณประโยชน์ให้แก่เพื่อนมนุษย์ทั้งหลาย ดังนี้เป็นต้น
บัดนี้ ทรงพระราชดำริว่าสมควรจะวางระเบียบการสำหรับสภากาชาดไทยนี้ให้เป็นหลักฐานมั่นคงบริบูรณ์ดียิ่งขึ้น จึงมีพระบรมราชโองการดำรัสสั่งให้ตราพระราชบัญญัติไว้สืบไปดังนี้ ว่า
หมวดที่ ๑
ว่าด้วยความมุ่งหมาย
สำหรับสภาและหน้าที่กรรมการ
มาตรา ๑ สภากาชาดไทยมีไว้ด้วยความมุ่งหมายจะกระทำกิจในทางเมตตาการุณดังจะกล่าวต่อไปนี้
ก. จัดสถานที่ถาวรสำหรับทำการรักษาพยาบาลคนเจ็บไข้ ไม่ว่าชาติใดภาษาใด
ข. จัดการช่วยเหลือผู้รับภัยเนื่องจากอุบัติเหตุ เช่น มีโรคร้ายเกิดแพร่หลายขึ้นในทำเลใดทำเลหนึ่ง เกิดอุทกภัย ดังนี้เป็นต้น
ค. จัดการสั่งสอนนางพยาบาล สะสมบุคคลที่จะทำการในหน้าที่นางพยาบาล และอำนวยการทั้งปวงในเรื่องนี้
ง. บำรุงกิจการทางแพทยศาสตร์ให้เจริญรุ่งเรืองยิ่งขึ้น
จ. ช่วยกองทัพบกทัพเรือในทางพยาบาล ทั้งในเวลาสงครามและยามสงบศึก
ให้สภากาชาดไทยมีฐานะเป็นนิติบุคคล ดำเนินการอันเป็นสาธารณกุศลเพื่อมนุษยธรรมตามหลักการของกาชาดสากล และพึงได้รับการสนับสนุนการดำเนินการจากรัฐ
มาตรา ๑/๑ กิจการของสภากาชาดไทยไม่อยู่ภายใต้บังคับแห่งกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงาน กฎหมายว่าด้วยแรงงานสัมพันธ์ กฎหมายว่าด้วยการประกันสังคม และกฎหมายว่าด้วยเงินทดแทน
มาตรา ๒ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงดำรงตำแหน่งบรมราชูปถัมภกแห่งสภานี้
มาตรา ๓ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ตั้งบุคคลผู้ไว้วางพระราชหฤทัยอย่างสนิทเป็นสภานายก ๑ (ถ้าเป็นหญิงก็เรียกว่าสภานายิกา) อุปนายกผู้อำนวยการสภา ๑
มาตรา ๔ นอกจากที่กล่าวแล้วในมาตรา ๓ ให้มีตำแหน่งกรรมการของสภา คือ
เลขาธิการ ๑
ผู้ช่วยเลขาธิการ ๑
เหรัญญิก ๑
ผู้ช่วยเหรัญญิก ๑
กรรมการที่ปรึกษา ไม่จำกัดจำนวน
ผู้อำนวยการกองแยกของสภา เช่น ผู้อำนวยการโรงพยาบาลของสภาโรงใดโรงหนึ่ง ดังนี้เป็นต้น
ตำแหน่งกรรมการของสภา ซึ่งกล่าวมานี้ ให้สภานายกเป็นผู้เลือกบุคคลและสั่งตั้งบรรจุได้เอง
มาตรา ๕ สภานายกกับอุปนายกผู้อำนวยการสภา เป็นผู้อำนวยการสั่งการร่วมกันแทนกัน ให้การงานทั้งปวงของสภาดำเนินไปโดยเรียบร้อย ทั้งมีอำนาจบังคับบัญชาการสิทธิขาดในกิจการทั้งปวงของสภานี้ พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้สภานายกและอุปนายกอำนวยการสภากาชาดไทย กราบบังคมทูลพระกรุณาโดยตรงในเรื่องซึ่งเกี่ยวกับกิจการของสภา ทั้งพูดจาโต้ตอบกับเสนาบดีเจ้ากระทรวงทบวงการได้ในฐานะเสมอหน้ากัน
มาตรา ๖ เลขาธิการ มีหน้าที่ดูแลรับผิดชอบในการสรรพหนังสือ ซึ่งมีโต้ตอบไปมาระหว่างกรรมการสภาและคณะอื่น ๆ ทั้งเป็นผู้รวบรวมรักษาข้อบังคับคำสั่งและระเบียบการทั้งปวง กับมีหน้าที่ในเรื่องรับสมาชิกขึ้นทะเบียนจำหน่ายออกจากทะเบียนและรักษาทะเบียนนั้น มีผู้ช่วยเลขาธิการช่วยเหลือในการทั้งปวงนี้
มาตรา ๗ เหรัญญิก มีหน้าที่ดูแลรับผิดชอบในสรรพกิจซึ่งเนื่องกับการเบิกจ่ายการรักษาเงิน ผลประโยชน์ และสมบัติทั้งปวงของสภา มีผู้ช่วยเหรัญญิกช่วยเหลือในการทั้งปวงนี้
ระเบียบการเบิกจ่ายรักษาเงินให้ดำเนินอนุโลมตามระเบียบของกระทรวงพระคลังมหาสมบัติมากที่สุดที่จะเป็นได้
มาตรา ๘ กรรมการที่ปรึกษา เป็นตำแหน่งสำหรับให้เกียรติยศแก่ผู้ที่ได้ทำการช่วยเหลือสภามาแล้วในกิจการต่าง ๆ หรือกำลังทำอยู่ให้มีหน้าที่ทำการทั้งปวงซึ่งสภานายกหรืออุปนายกผู้อำนวยการขอร้องให้กระทำ
มาตรา ๙ ผู้อำนวยการกองแยกนั้น เมื่อได้รับมอบให้เป็นหัวหน้าในกองใดเช่น เป็นผู้อำนวยการโรงพยาบาลของสภา เป็นผู้อำนวยการปาสตุระสภา เป็นผู้อำนวยการกองพยาบาลสนามดังนี้เป็นต้น ก็ให้เป็นผู้รับผิดชอบและบังคับบัญชาให้การงานในกองนั้น ๆ ดำเนินไปโดยเรียบร้อยสมประสงค์ของกรรมการสภา
ผู้อำนวยการเหล่านี้ มีอำนาจที่จะออกข้อบังคับวางระเบียบการต่าง ๆ ภายในกองของตน แต่ก่อนที่จะออกนั้นต้องได้หารือและได้รับอนุมัติจากอุปนายกผู้อำนวยการสภาเสียก่อน
มาตรา ๑๐ พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้กรรมการสภากาชาดไทยจัดการเรี่ยรายในหนทางต่าง ๆ ที่ชอบด้วยพระราชกำหนดกฎหมาย เพื่อรับเงินมาเป็นทุนดำเนินกิจการของสภาให้เจริญรุ่งเรืองยิ่ง ๆ ไป
(๑) เงินอุดหนุนที่รัฐบาลจัดสรรให้โดยตรงจากงบประมาณรายจ่ายประจำปี
(๒) เงินหรือทรัพย์สินที่มีผู้บริจาคให้
(๓) ค่าบำรุง ค่าธรรมเนียม ค่าบริการ หรือรายได้จากการดำเนินการ
(๔) ดอกผลของเงินหรือรายได้จากทรัพย์สินของสภากาชาดไทย
(๕) รายได้หรือผลประโยชน์อื่น
เพื่อประโยชน์ในการจัดสรรเงินอุดหนุนให้แก่สภากาชาดไทย ให้สภากาชาดไทยเสนอขอรับงบประมาณรายจ่ายประจำปีต่อคณะรัฐมนตรี โดยความเห็นชอบของนายกรัฐมนตรี เพื่อจัดสรรเป็นเงินอุดหนุนของสภากาชาดไทยไว้ในพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี หรือพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม แล้วแต่กรณี
ให้กระทรวงการคลังกำหนดระเบียบวิธีการในการเบิกจ่ายเงินงบประมาณรายจ่ายของสภากาชาดไทย
มาตรา ๑๐/๒ บรรดาเงินหรือรายได้ของสภากาชาดไทย ไม่เป็นเงินหรือรายได้ที่ต้องนำส่งกระทรวงการคลัง
การใช้จ่ายเงินหรือรายได้ของสภากาชาดไทย ให้เป็นไปเพื่อประโยชน์แก่กิจการของสภากาชาดไทยตามข้อบังคับและระเบียบที่คณะกรรมการสภากาชาดไทยกำหนด
มาตรา ๑๐/๓ ทรัพย์สินของสภากาชาดไทยไม่อยู่ในความรับผิดแห่งการบังคับคดี ตลอดจนการบังคับทางปกครอง
มาตรา ๑๐/๔ การบัญชีของสภากาชาดไทย ให้จัดทำตามมาตรฐานการบัญชีตามกฎหมายว่าด้วยการบัญชีและหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการสภากาชาดไทยกำหนด และต้องจัดให้มีการตรวจสอบภายในเกี่ยวกับการเงิน การบัญชี และการพัสดุของสภากาชาดไทย ตลอดจนรายงานผลการตรวจสอบให้คณะกรรมการสภากาชาดไทยทราบอย่างน้อยปีละครั้ง
ในการตรวจสอบภายใน ให้มีคณะกรรมการตรวจสอบของสภากาชาดไทยทำหน้าที่ตรวจสอบภายในตามข้อบังคับที่คณะกรรมการสภากาชาดไทยกำหนด และให้รับผิดชอบขึ้นตรงต่อคณะกรรมการสภากาชาดไทย
มาตรา ๑๐/๕ ให้สภากาชาดไทยจัดทำงบการเงินตามกฎหมายว่าด้วยการบัญชีส่งผู้สอบบัญชีภายในหนึ่งร้อยยี่สิบวันนับแต่วันสิ้นปีงบประมาณ เพื่อตรวจสอบ
ให้คณะกรรมการสภากาชาดไทยแต่งตั้งบุคคลใดหรือขอให้หน่วยงานของรัฐเป็นผู้สอบบัญชีของสภากาชาดไทย และให้ทำการตรวจสอบรับรองบัญชีและการเงินของสภากาชาดไทยทุกรอบปีงบประมาณ แล้วทำรายงานผลการสอบบัญชีเสนอต่อคณะกรรมการสภากาชาดไทยภายในหนึ่งร้อยแปดสิบวันนับแต่วันสิ้นปีงบประมาณทุกปี และให้สภากาชาดไทยจัดทำรายงานผลการดำเนินงานประจำปีตามข้อบังคับที่คณะกรรมการสภากาชาดไทยกำหนด
หมวดที่ ๒
ว่าด้วยสมาชิก
มาตรา ๑๑ บุคคลซึ่งจะเข้าเป็นสมาชิกในสภากาชาดไทย ต้องเป็นผู้ซึ่งอุปถัมภ์ค้ำชูช่วยเหลือทำนุบำรุงหรือทำประโยชน์อย่างใดอย่างหนึ่งให้แก่สภา หรือที่อุปนายกผู้อำนวยการเห็นว่าสมควรเชิญเป็นสมาชิกพิเศษเพราะจะนำมาซึ่งเกียรติศักดิ์แก่สภา
อนึ่งผู้ซึ่งจะเป็นสมาชิกนั้นไม่จำกัดว่าหญิงหรือชายย่อมจะเป็นได้เท่ากัน
มาตรา ๑๒ ให้แบ่งสมาชิกออกเป็น ๔ ประเภท คือ
๑. สมาชิกพิเศษ
๒. สมาชิกกิติมศักดิ์
๓. สมาชิกวิสามัญ
๔. สมาชิกสามัญ
มาตรา ๑๓ สมาชิกพิเศษ ได้แก่ผู้ซึ่งอุปนายกผู้อำนวยการเชิญเป็นสมาชิกเพราะจะนำมาซึ่งเกียรติศักดิ์แก่สภาดังว่ามาแล้ว
มาตรา ๑๔ สมาชิกกิติมศักดิ์ ได้แก่ผู้ซึ่งได้ให้ทรัพย์สินเงินทองแก่สภา เช่นให้เงินสำหรับสร้างถาวรวัตถุ ให้ทรัพย์สมบัติอย่างใด ๆ ในคราวเดียวซึ่งตีราคาได้กว่า ๓,๐๐๐ บาท หรือให้เงินในคราวเดียวกว่า ๓,๐๐๐ บาทขึ้นไป
ผู้ใดได้ให้ทรัพย์สินเงินทองแก่สภาแล้วดังว่านี้ นับแต่ต้นปีพระพุทธศักราช ๒๔๕๗ ลงมา ให้นับว่าเป็นสมาชิกกิติมศักดิ์จงทุกคน
มาตรา ๑๕ สมาชิกวิสามัญ ได้แก่ผู้ซึ่งให้เงินแก่สภาเป็นการบำรุงประจำปีปีละไม่ต่ำกว่า ๑๐๐ บาท ทุก ๆ ปีไป
มาตรา ๑๖ สมาชิกสามัญ ได้แก่ผู้มีความรู้สอบไล่ได้ประกาศนียบัตรของสภากาชาดไทยในวิชาพยาบาลอย่าง ๑ ทั้งได้แก่ผู้ให้เงินบำรุงสภาประจำปี ปีละ ๑๐ บาททุกปีเสมอไป
มาตรา ๑๗ ผู้ใดสมัครจะเข้าเป็นสมาชิกประเภทใดประเภทหนึ่งดังกล่าวไว้ในมาตรา ๑๔ มาตรา ๑๕ มาตรา ๑๖ ให้เขียนจดหมายแสดงความประสงค์ส่งมายังอุปนายกผู้อำนวยการ หรือเลขาธิการสภา เมื่ออุปนายกผู้อำนวยการพิจารณาเห็นสมควรจะรับเป็นสมาชิกแล้ว จักได้สั่งให้ขึ้นทะเบียน และแจ้งไปให้ผู้นั้นทราบ หรือให้เลขาธิการแจ้งไปให้ทราบ
มาตรา ๑๘ สมาชิกมีสิทธิที่จะขอให้แพทย์ของสภาทำการรักษาพยาบาลให้แล้วเสียเงินค่ารักษาพยาบาลเพียงครึ่งอัตราซึ่งเก็บจากคนที่มิใช่สมาชิก
มาตรา ๑๙ การส่งเงินบำรุงนั้น จะส่งตรงให้สภานายก หรืออุปนายกผู้อำนวยการ หรือเลขาธิการ หรือเหรัญญิก ก็ได้ทั้งสิ้น ส่งเป็นตัวเงินก็ได้ เป็นใบเช็คหรือเป็นธนาณัติเป็นตั๋วดร๊าฟก็ได้
มาตรา ๒๐ ในวันสิ้นปีใดปีหนึ่ง ถ้าปรากฏว่าสมาชิกวิสามัญหรือสมาชิกสามัญผู้ใด มิได้ส่งเงินบำรุงประจำปีนั้นมายังกรรมการสภา ให้นับว่าขาดจากสมาชิก ให้คัดนามออกจากทะเบียนทีเดียว
มาตรา ๒๑ สมาชิกผู้ใดมีความประสงค์จะลาออกจากตำแหน่งสมาชิก ก็ทำได้ แต่ต้องแจ้งความเป็นลายลักษณ์อักษรมายังเลขาธิการ และถ้ามีหนี้เกี่ยวค้างอยู่กับสภา ต้องใช้เสียให้เสร็จสิ้นก่อนออก
มาตรา ๒๒ ให้เป็นที่เข้าใจกันว่าสภากาชาดไทยนี้เป็นสมาคมสำหรับประกอบการกุศลโดยแท้ การเข้าเป็นสมาชิกในสภานี้ชอบด้วยพระราชนิยมยิ่งนัก เพราะฉะนั้นในกระทรวงทบวงการใดมีกฎข้อบังคับว่าผู้รับราชการในกระทรวงทบวงการนั้น ๆ ต้องขออนุญาตผู้บังคับบัญชาก่อนเข้าเป็นสมาชิกในสมาคมต่าง ๆ ดังนั้นไซร้ ให้ถือว่าการเข้าเป็นสมาชิกสภากาชาดไทยนี้ พระราชทานพระบรมราชานุญาตแล้วเสร็จ
หมวดที่ ๓
ว่าด้วยเครื่องหมาย
มาตรา ๒๓ รูปกาชาด (กากบาทแดง) เป็นเครื่องหมายของสภากาชาดไทยเช่นเดียวกับสภากาชาดของทุกประเทศ ห้ามมิให้ผู้หนึ่งผู้ใดภายในพระราชอาณาเขตไทยนี้ใช้รูปกาชาด (กากบาทแดง) นี้เป็นเครื่องหมายสำหรับการใด ๆ เช่นใช้เป็นตรายี่ห้อในการขายของเป็นต้น ห้ามมิให้เขียนหรือติดไว้ ณ ที่ใด ๆ เป็นอันขาด นอกจากได้รับอนุญาตแล้วจากกรรมการสภากาชาดไทย
มาตรา ๒๔ ให้มีเครื่องหมายสำหรับสมาชิกของสภากาชาดไทยเป็นเข็มกลัดทองลงยาหรือเงินกาไหล่ทองลงยา รูปกลมเส้นผ่าศูนย์กลางยาว ๒ ๑/๒ เซนติเมตร ขอบวงกลมนั้นมีรูปเป็นจักร และมีอักษรพระบรมนามาภิไธยย่อ จ.ป.ร. ทับบนรูปกาชาดวางอยู่กลาง
เข็มนี้สำหรับกลัดที่อกเสื้อ
มาตรา ๒๕ เฉพาะผู้ซึ่งเป็นกรรมการหรือสมาชิกของสภากาชาดไทยเท่านั้นจะมีสิทธิกลัดเข็มนี้ได้ และเข็มนี้กรรมการสภาจะแจกให้แก่สมาชิกทุกคนไม่คิดราคา ผู้ใดออกจากสมาชิกต้องส่งเข็มนี้คืน
หมวดที่ ๓/๑
เหรียญกาชาด
มาตรา ๒๕/๑ เหรียญกาชาดมีสามประเภท คือ เหรียญกาชาดสมนาคุณ เหรียญกาชาดสรรเสริญ และเหรียญกาชาดสดุดี
มาตรา ๒๕/๒ เหรียญกาชาดสมนาคุณ มีลักษณะเป็นเหรียญโลหะกลมแบน เส้นผ่าศูนย์กลาง ๒๗ มิลลิเมตร ด้านหน้ามีรูปกาชาดและรูปนางพยาบาลประคองทารกกับคนชรา ด้านหลังกลางเหรียญมีที่ว่างสำหรับจารึกนามผู้ได้รับเหรียญและพุทธศักราช ภายในวงขอบเหรียญเบื้องบนมีข้อความว่า สภากาชาด และภายในวงขอบเหรียญเบื้องล่างมีข้อความว่า สมนาคุณ ด้านหน้ามีห่วงเป็นรูปกระหนก สำหรับบุรุษใช้ห้อยกับแพรแถบสีขาวกว้าง ๓๐ มิลลิเมตร ด้านหน้าแพรแถบตรงกลางมีกาชาดลงยา สำหรับสตรีใช้ห้อยกับแพรแถบดังกล่าวผูกเป็นรูปแมลงปอ
เหรียญกาชาดสมนาคุณ มีลำดับเป็น ๓ ชั้น คือ
ชั้นที่ ๑ ทองคำลงยาที่กาชาด
ชั้นที่ ๒ เงินกาไหล่ทอง
ชั้นที่ ๓ เงินรมดำ
มาตรา ๒๕/๓ เหรียญกาชาดสรรเสริญ มีลักษณะเป็นเหรียญทองแดงแบนรูปกาชาดมีวงกลมเส้นผ่าศูนย์กลาง ๓๐ มิลลิเมตรทับอยู่ ด้านหน้ามีรูปนางเมขลาอุ้มพระชนกขึ้นจากมหาสมุทรด้านหลังกลางเหรียญมีข้อความว่า กาชาดสรรเสริญ มีห่วงห้อย สำหรับบุรุษใช้ห้อยกับแพรแถบสีขาว กว้าง ๓๐ มิลลิเมตร มีริ้วสีแดงใกล้ขอบทั้งสองข้าง ด้านหน้าแพรแถบตรงกลางมีกาชาดลงยา สำหรับสตรีใช้ห้อยกับแพรแถบดังกล่าวผูกเป็นรูปแมลงปอ
มาตรา ๒๕/๔ เหรียญกาชาดสดุดี มีลักษณะเป็นเหรียญกลมแบน เส้นผ่าศูนย์กลาง ๓๐ มิลลิเมตร ด้านหน้า กลางเหรียญมีพระรูปสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถทรงฉลองพระองค์ชุดไทยประยุกต์ ทรงสายสะพายและสายสร้อยแห่งเครื่องขัตติยราชอิสริยาภรณ์ อันมีเกียรติคุณรุ่งเรืองยิ่งมหาจักรีบรมราชวงศ์ พระอังสาเบื้องซ้ายประดับดวงตราปฐมจุลจอมเกล้า เหรียญดุษฎีมาลา เข็มศิลปวิทยา และเหรียญรัตนาภรณ์รัชกาลที่ ๙ ชั้นที่ ๑ ภายในวงขอบเหรียญ มีข้อความว่า สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ สภานายิกาสภากาชาดไทย ด้านหลังกลางเหรียญมีรูปตราสัญลักษณ์งานเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถเนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๖ รอบ ๑๒ สิงหาคม ๒๕๔๗ ขนาบด้านขวาและซ้ายด้วยเครื่องหมายกาชาด ด้านล่างมีข้อความว่า กาชาดสดุดี เหนือขอบเหรียญมีอักษรพระนามาภิไธย ส.ก. ไขว้ ภายใต้พระมหามงกุฎ ด้านหลังมีห่วงสำหรับบุรุษใช้ห้อยกับแพรแถบ กว้าง ๓๐ มิลลิเมตร พื้นของแพรแถบเป็นสีขาวและตรงกลางแพรแถบมีริ้วสีแดง สำหรับสตรีใช้ห้อยกับแพรแถบดังกล่าวผูกเป็นรูปแมลงปอ
เหรียญกาชาดสดุดี มีลำดับเป็น ๓ ชั้น คือ
ชั้นพิเศษ ทองคำ
ชั้นที่ ๑ เงิน
ชั้นที่ ๒ บรอนซ์
มาตรา ๒๕/๕ การให้เหรียญกาชาดสมนาคุณ เหรียญกาชาดสรรเสริญ และเหรียญกาชาดสดุดี ให้เป็นไปตามข้อบังคับสภากาชาดไทย
มาตรา ๒๕/๖ เหรียญกาชาดสมนาคุณ เหรียญกาชาดสรรเสริญ และเหรียญกาชาดสดุดี ให้ประดับได้อย่างเครื่องราชอิสริยาภรณ์ และให้มีประกาศนียบัตรกำกับ เหรียญจำลองและดุมเสื้อ ทั้งนี้ ตามที่กำหนดในข้อบังคับสภากาชาดไทย
มาตรา ๒๕/๗ เหรียญกาชาดสมนาคุณ เหรียญกาชาดสรรเสริญ และเหรียญกาชาดสดุดี ให้เป็นสิทธิแก่ผู้ได้รับ และเมื่อผู้ได้รับวายชนม์ให้ตกทอดแก่ทายาทเพื่อรักษาไว้เป็นที่ระลึก
หมวดที่ ๔
ว่าด้วยการลงอาญาแก่ผู้ละเมิดพระราชบัญญัตินี้
มาตรา ๒๖ ผู้ใดใช้รูปกาชาดเป็นเครื่องหมายสำหรับการใด ๆ เขียนหรือติดไว้ ณ ที่ใด ๆ โดยมิได้รับอนุญาตจากกรรมการสภากาชาดไทยก่อน ท่านว่าผู้นั้นมีความผิดต้องระวางโทษ จำขังไม่เกิน ๓ เดือนสถาน ๑ ปรับไม่เกิน ๑,๐๐๐ บาท สถาน ๑ หรือทั้งจำขังและปรับไม่เกินกำหนดซึ่งว่ามาแล้วนั้น
มาตรา ๒๗ ผู้ใดซึ่งมิได้เป็นกรรมการหรือสมาชิกสภากาชาดไทยประดับเข็มเครื่องหมายสำหรับสมาชิกสภากาชาดไทย ท่านว่าผู้นั้นมีความผิดต้องระวางโทษ จำขังไม่เกิน๓ เดือนสถาน ๑ ปรับไม่เกิน ๑,๐๐๐ บาท สถาน ๑ หรือทั้งจำขังและปรับไม่เกินกำหนดซึ่งว่ามาแล้วนั้น
มาตรา ๒๘ การฟ้องเอาโทษแก่ผู้ละเมิดพระราชบัญญัตินี้ ให้เป็นหน้าที่ของเจ้าพนักงานอัยการแผ่นดินแต่ฝ่ายเดียว
หมวดที่ ๕
ว่าด้วยกำหนดเริ่มใช้และผู้รักษาพระราชบัญญัติ
มาตรา ๒๙ ให้ใช้พระราชบัญญัตินี้แต่วันที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป และให้ยกเลิกพระราชบัญญัติห้ามใช้เครื่องหมายกากบาทแดงซึ่งได้ประกาศให้ใช้แต่วันที่ ๗ มกราคม พระพุทธศักราช ๒๔๕๔ นั้นเสีย ไม่ใช้ต่อไป
มาตรา ๓๐ ให้นายกรัฐมนตรีรักษาการตามพระราชบัญญัตินี้
มาตรา ๓๑ ให้สภานายกและอุปนายกผู้อำนวยการสภากาชาดไทย มีอำนาจที่จะออกข้อบังคับวางระเบียบการละเอียดสำหรับเจ้าหน้าที่ทั้งปวงในสภากาชาดไทยปฏิบัติตามนั้นได้
ประกาศมา ณ วันที่ ๑๒ มิถุนายน พระพุทธศักราช ๒๔๖๑
พระราชบัญญัติว่าด้วยสภากาชาดไทยเพิ่มเติม พระพุทธศักราช ๒๔๖๓
มาตรา ๓ ให้สภานายกหรือสภานายิกา เมื่อได้รับอนุมัติและความยินยอมของคณะกรรมการแห่งสภาแล้ว มีอำนาจวางข้อบังคับว่าด้วยความประสงค์ ว่าด้วยระเบียบการปกครองและวิธีดำเนินการของสภา ว่าด้วยการกำหนดจำนวนและการเลือกตั้งกรรมการ ว่าด้วยการประชุมและวิธีปรึกษาการของกรรมการและว่าด้วยการเรี่ยรายเงินและเก็บเงินจากสมาชิก
บรรดาข้อบังคับซึ่งได้วางขึ้นไว้ดังกล่าวนั้น เมื่อได้นำลงประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว ให้ฟังว่าเป็นอันใช้ได้โดยชอบด้วยกฎหมาย ตั้งแต่วันที่ได้ประกาศให้ทราบนั้นเป็นต้นไป
มาตรา ๔ ตั้งแต่วันที่เริ่มใช้พระราชบัญญัตินี้เป็นต้นไป ให้ยกเลิกข้อความในพระราชบัญญัติว่าด้วยสภากาชาดไทย พระพุทธศักราช ๒๔๖๑ แต่เฉพาะส่วนที่เป็นปฎิปักษ์ต่อบทแห่งพระราชบัญญัตินี้ หรือต่อข้อบังคับซึ่งสภานายกหรือสภานายิกาได้วางไว้ โดยอาศัยอำนาจตามความในพระราชบัญญัตินี้เสียทั้งสิ้น
รัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมว่าด้วยนามประเทศ พุทธศักราช ๒๔๘๒
มาตรา ๓ นามประเทศนี้ให้เรียกว่า ประเทศไทย และบทแห่งรัฐธรรมนูญหรือกฎหมายอื่นใด ซึ่งใช้คำว่า สยาม ให้ใช้คำว่า ไทย แทน
พระราชบัญญัติว่าด้วยสภากาชาดไทย (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๐๒
หมายเหตุ:- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ โดยที่เป็นการสมควรให้ผู้ได้รับเหรียญกาชาดสมนาคุณและเหรียญกาชาดสรรเสริญ ประดับเหรียญนี้ได้อย่างเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ในการนี้ จำเป็นต้องแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติว่าด้วยสภากาชาดไทย พระพุทธศักราช ๒๔๖๑
พระราชบัญญัติว่าด้วยสภากาชาดไทย (ฉบับที่ ๔) พ.ศ. ๒๕๕๐
หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ โดยที่เป็นการสมควรจัดสร้างเหรียญกาชาดสดุดีเพื่อพระราชทานแก่ผู้ประกอบคุณงามความดีช่วยเหลือหรือส่งเสริมสนับสนุนกิจการอันเป็นการอำนวยประโยชน์แก่สภากาชาดไทย และเพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถผู้ทรงดำรงตำแหน่งสภานายิกาสภากาชาดไทยที่ยาวนานที่สุด เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๖ รอบ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในวันที่ ๑๒ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๔๗ จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้
พระราชบัญญัติว่าด้วยสภากาดชาดไทย (ฉบับที่ ๕) พ.ศ. ๒๕๕๐
มาตรา ๗ ให้โอนบรรดาทรัพย์สิน สิทธิ หน้าที่ หนี้ และงบประมาณของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในส่วนที่เกี่ยวกับการดำเนินการตามวัตถุประสงค์ของสภากาชาดไทยไปเป็นของสภากาชาดไทย
ในกรณีที่มีปัญหาเกี่ยวกับการโอนบรรดาทรัพย์สิน สิทธิ หน้าที่ และหนี้ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยไปเป็นของสภากาชาดไทยตามวรรคหนึ่ง ให้จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สภากาชาดไทย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมกันพิจารณาดำเนินการแก้ไขในส่วนที่เกี่ยวข้อง
มาตรา ๘ ในวาระเริ่มแรก ในกรณีที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้เสนอของบประมาณเพื่ออุดหนุนสภากาชาดไทยไว้ในงบประมาณรายจ่ายประจำปีแล้ว ให้ถือว่างบประมาณในส่วนที่เกี่ยวกับการอุดหนุนสภากาชาดไทยที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเสนอไปแล้วนั้น เป็นงบประมาณรายจ่ายประจำปีที่สภากาชาดไทยเสนอขอรับต่อคณะรัฐมนตรีตามวรรคสองของมาตรา ๑๐/๑
ในกรณีที่มีปัญหาเกี่ยวกับการจัดการงบประมาณ ให้สำนักงบประมาณ กระทรวงการคลัง กระทรวงศึกษาธิการ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สภากาชาดไทย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมกันพิจารณาดำเนินการแก้ไขในส่วนที่เกี่ยวข้อง แล้วแต่กรณี
หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ โดยที่พระราชบัญญัติว่าด้วยสภากาชาดไทยพระพุทธศักราช ๒๔๖๑ ที่ใช้บังคับอยู่ในปัจจุบันไม่ครอบคลุมและไม่สอดคล้องกับการดำเนินกิจการของสภากาชาดไทยในปัจจุบัน ทำให้การดำเนินกิจการของสภากาชาดไทยไม่มีความเป็นอิสระและคล่องตัวส่งผลกระทบต่อการบริการทางการแพทย์และสุขภาพอนามัย การบรรเทาทุกข์ การบริการโลหิต และการส่งเสริมคุณภาพชีวิต สมควรแก้ไขเพิ่มเติมบทบัญญัติแห่งกฎหมายว่าด้วยสภากาชาดไทยในส่วนที่เกี่ยวข้องเพื่อให้ฐานะของสภากาชาดไทยมีความชัดเจน ได้รับการสนับสนุนการดำเนินการ ตลอดจนงบประมาณจากรัฐ โดยให้มีระบบการจัดทำบัญชีที่ได้มาตรฐาน การรายงาน และการตรวจสอบที่ชัดเจน โปร่งใสรวมทั้งเปลี่ยนแปลงผู้รักษาการตามกฎหมายให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้
|